วันศุกร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ถึงเวลาตัดแต่งกิ่งกุหลาบแล้วนะครับ


วันก่อนคุณปูเป้มากระทู้ไว้ว่า "เดือนตุลาคมกำลังจะเข้ามา ใกล้ฤดูตัดแต่งกิ่งแล้วนะคะ" ผมก็เลยแวะไปเยี่ยมพี่สมศักดิ์ที่น้อมจิตไก่ย่างมาเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ก็พบว่าพี่เค้าก็ตัดแต่งกิ่งกุหลาบไปแล้ว เพื่อเตรียมตัวรอช่วงฤดูกุหลาบงามที่จะมาถึง ผมหันไปเห็นกุหลาบกระถางหนึ่งซึ่งพี่เค้าตัดซะไม่เหลือใบเลยครับ ถามว่ามันโรคอะไรทำไมถึงตัดขนาขนาดนี้ พี่แก่ตอบว่ามันไม่ได้เป็นอะไรหรอกแค่ตัดต่ำเฉยๆ ให้มันแตกพุ่มใหม่ที่สวยกว่าเดิม แต่ต้องระวังหน่อยถ้าหากตัดขนาดนี้ไม่ควรใส่ปุ๋ยใดๆ ทั้งสิน เพราะกุหลาบไม่มีใบที่จะสังเคราะห์อาหารแล้ว ต้องรอให้มันแตกใบใหม่มาเยอะๆ ก่อน คงประมาณ 1 เดือน ถึงเริ่มให้ปุ๋ยได้ และก็มีคำเตือนอีกว่ากุหลาบที่จะตัดต่ำได้ขนาดนี้ต้นต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 2 ปี ไม่เช่นนั้นอาจเดี้ยงได้ แล้วแกก็ชี้ให้ดูอีกต้นที่เดี้ยงเรียบรอยไปแล้วครับ

สรุป สำหรับเพื่อนๆ ที่คิดจะตัดต่ำก็ทำได้นะครับ ถ้าต้นมีอายุมากกว่า 2 ปีแล้ว เพราะคิดว่ารากคงจะฟูมพอสมควร ที่สำคัญอย่าลืมว่าไม่ควรให้ปุ๋ยในช่วงนี้ และ การตัดต่ำจะนิยมทำกันในช่วงปลายฝนต้นหนาวนี่แหละครับ ฤดูอื่นไม่ควรตัดกิ่งกุหลาบแบบนี้นะครับ กุหลาบอาจตายเอาง่ายๆ

วันจันทร์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2553

แดดเปลี่ยนทิศ กุหลาบก็ควรเปลี่ยนที่อยู่บ้าง

สวัสดีครับ ห่างหายไปนาน งานยุ่ง อิอิ เป็นคำแก้ตัวที่ใครๆ ก็ใช้กัน แต่ตอนนี้กลับมาแล้ว กลับมาพร้อมข่าวดี 2 เรื่อง คือ หนึ่ง ช่วงนี้กุหลาบกำลังงาม คิดว่าคงงามกันแทบทุกสวน และทุกบ้านที่ปลูกกุหลาบนะครับ ผมว่าอากาศกำลังดี แค่ค่อยดูแลเรื่องโรคบ้างเล็กน้อย แล้วก็ที่อื่นจะเป็นเหมือนที่บ้านผมหรือเปล่าไม่ทราบ คือ เมื่อฤดูจะเปลี่ยน แดดก็เริ่มเบนทิศเล็กน้อย แต่ก็อาจทำให้เกิดร่มกับกุหลาบมากเกินไปก็ได้ ที่บ้านผมก็เลยย้ายกระถางกุหลาบออกไปไว้หน้าบ้านโดนแดดเกือบทั้งวันเลยครับ แตกดอกแตกกิ่งงามดีมาก รู้อย่างนี้ย้ายออกมาตั้งนานแล้ว เพื่อนๆ ลองย้ายกระถางกุหลาบดูบ้างก็ดีนะครับ ยิ่งกุหลาบโดนแดดได้รอบต้นเลยก็ยิ่งดี เพราะจะทำให้พุ่มกุหลาบสวย ไม่เอนไปด้านใดด้านหนึ่ง

ส่วนข่าวดีเรื่องที่สองก็คือ คุณปูเป้ ซึ่งเป็นเพื่อนที่แสนดี ได้ทำบล๊อกกุหลาบออกมาแล้ว คิดว่าคงจะเป็นประโยชน์สำหรับเพื่อนๆ ลองตามไปดูกันนะครับ http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=pupaeblossom

วันเสาร์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ใครอยากปลูกกุหลาบยกมือขึ้น ?



สวัสดีครับ ห่างหายกันไปนานเลยนะครับ งานยุ่งมากๆครับ ถ่ายรูปกุหลาบไว้เยอะแยะเลยแต่ไม่ได้เอาลงบล๊อก

วันก่อนแวะไปที่สวนมา พี่สมศักดิ์ (ที่ปรึกษาส่วนตัว) แก่บอกว่าช่วงนี้ใครอยากปลูกกุหลาบก็จะปลูกได้ง่ายหน่อย เพราะแตกกิ่งง่าย และต้นก็ค่อนข้างสมบูรณ์ ส่วนกุหลาบที่ปลูกไว้แล้วตัดกิ่งยังไงก็แตกงามครับ ผมก็เลยลองตัดต้นที่บ้านดู ตัดตรงไหนแตกตรงนั้นเลยครับ ทำความสะอาดกรรไกตัดกิ่งก่อนด้วยนะครับ ไม่อย่างนั้นตัดตรงไหนก็ดำตรงนั้นไม่รู้ด้วย

วันศุกร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

กุหลาบรอดตายมาแล้วคร๊าาาบ

ว่าจะถ่ายรูปกุหลาบที่ฟื้นจากเพลี้ยหอยมาให้ดูตั้งนานแล้วไม่สบโอกาสซะที วันนี้ได้โอกาสแล้วตื่นมาแต่เช้ารีบๆๆๆๆ ถ่ายมาให้ดูกันครับ






ใบกุหลาบเริ่มแข็งแรง ก่อนหน้านี้ใบเหลืองร่วงหมดต้นเลยครับ เพราะผสมสูตรกำจัดเพลี้ยหอยจากก้นครัวเข้มข้นเกินไป








ดอกแรกครับ น่าจะเป็นพันธุ์ไวท์คริสต์มาส










กิ่งเริ่มยาวอวบอัดแล้วครับ ต้นนี้พันธุ์อะไรจำชื่อไม่ได้แล้ว ดอกสีม่วงอมชมพู กลิ่นหอมบางๆ ดอกใหญ่ครับ










กุหลาบเลื้อยครับ แตกกิ่งกระโดงออกมาใหม่แล้ว ใบใหญ่เชียว










เด็ดดอกทิ้งครับ ช่วงพักต้นให้แข็งแรงก่อน









ถ้าปล่อให้ออกดอกตอนนี้ก็จะเป็นลักษณะนี้ครับ อ่อนแอ ดอกเล็กแกรน ไม่สมบูรณ์







die back ครับระวังนะครับ ช่วงนี้จะเป็นเยอะ โดยมากมากับเพลี้ยหอยครับโรคนี้ ต้นนี้ท่าทางจะไม่รอดแล้วหละครับ








ร่องรอยการถูกทำลายจากเจ้าเพลี้ยหอยตัวแสบ ตัวหลุดล่วงไปแล้ว แต่ทิ้งรอยช้ำเป็นจ้ำๆ เอาไว้ให้ดูต่างหน้า

วันจันทร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

กุหลาบเริ่มฟื้นแล้วหลังจากสลบไป 2 สัปดาห์


สวัสดีครับ จากความเดิมตอนที่แล้ว หลังจากที่พ่นสูตรกำจัดเพลี้ยหอยจากก้นครัวไปประมาณ 2 สัปดาห์ ซึ่งแรกๆ ก็ทำให้ใบกุหลาบเหลืองร่วงเต็มไปหมด คิดว่าไม่รอดซะแล้ว ช่วงนั้นงดให้ปุ๋ยให้ยาไปเลยครับเพราะการดูดซึ่มของกุหลาบไม่ดีแล้ว ตอนนี้ก็เริ่มแตกกิ่งใหม่เยอะแล้วครับ พอมีดอกตูมออกมาก็เด็ดทิ้งไปก่อนรอให้ต้นกุหลาบทรงตัวระยะหนึ่งค่อยปล่อยให้ออกดอกใหม่

วันก่อนคุณปูเป้แวะมาถักทายบอกว่าจริงๆ แล้วแค่ใช้แปรงขัดๆ ตามกิ่งเอาก็พอถ้าไม่อยากให้ใบเหลือง แหม.....บอกช้าไปนิดนะครับ ไว้คราวหน้าแล้วกัน แต่..ก็ไม่อยากให้เป็นอีกแล้วหงะ

อีกโรคที่มักจะมาพร้อมกับเพลี้ยหอย และก็หน้าฝนก็คือ die back ครับ ยังไงถ้าจะตัดแต่งกิ่งกุหลาบกันก็ทำความสะอาดกรรไกรตัดกิ่งกันด้วยนะครับ แล้วพ่นยากันเชื้อรา หรือไม่ก็เอาปูนแดงทาไว้บ้าง

เดี๋ยวเสาร์นี่ถ่ายรูปมาให้ดูนะครับ

วันศุกร์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2553

กุหลาบใบเหลืองจะตายมั๊ยเนี่ย?


จากโพสที่แล้ว ว่าด้วยเรื่อง การกำจัดเพลี้ยหอย หลังจากฉีดน้ำยาสูตรกำจัดเพลี้ยหอยไปเมื่อวันก่อน ผลปรากฎก็ คือ ใบกุหลาบเหลือง และร่วงตามกันเป็นแถวๆ ก็เลยไปหาขอคำปรึกษาจากพี่สมศักดิ์ ที่ร้านไก่ย่างน้อมจิต ศรีนครินทร์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องการปลูกกุหลาบของผม ก็ได้คำแนะนำมาว่าเป็นธรรมดา เพราะน้ำยาที่เป็น Oil ส่วนใหญ่เมื่อถูกแดดแรงๆ ก็จะทำให้ยิ่งร้อนกว่าปกติ ใบกุหลาบจึงเหลืองและร่วง ทางที่ดีก็คือ เก็บใบที่เหลืองร่วงออกให้หมด แล้วช่วงนี้ให้ดูแลเรื่องการให้น้ำดีๆ อย่าให้มากเกินไปเพราะการดูดซึมของต้นกุหลาบไม่ดี เหมือนเวลาเราป่วยแล้วไม่อยากกินอะไร กุหลาบก็เหมือนกัน ให้น้ำมากรากจะเนาเอาได้ งดปุ๋ยด้วย รอจนต้นฟื้น และแตกกิ่งและใบอ่อนออกมาใหม่ค่อยเริ่มอัดปุ๋ย

แต่อย่างไรก็ตามการที่กุหลาบต้องมาใบร่วงเอาช่วงอากาศร้อนจัดอย่างนี้ไม่เป็นผลดีเลย พี่สมศักดิ์บอกว่า 50/50 อาจรอดหรือตายก็ได้ แต่ก็จำเป็นต้องเสี่ยงเพราะเพลี้ยหอยคือศัตรูกุหลาบตัวร้ายที่นักเลี้ยงกุหลาบกลัวมากที่สุดตัวหนึ่ง ด้วยความที่ระบาดเร็ว และรุ่นแรก แต่สำหรับผู้ที่ปลูกเป็นอาชีพจริงๆ ก็จะรู้ว่ามียาบางตัวที่ป้องกันเพลียหอยได้ ก็จะฉีดพ่นดักไว้ก่อนช่วงที่เพลี้ยหอยจะระบาด ส่วนผมเองก็ยังไม่รู้ว่าชื่อยาอะไรและหาซื้อได้ที่ไหน :)

วันจันทร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2553

เผลอแพลบเดียว กุหลาบจะตายแล้ว


ช่วงนี้วุ่นๆ กับงานประจำก็เลยไม่ค่อยได้เอาใจใส่กุกลาบเท่าที่ควร พอหันมาดูอีกที เพียบเลยครับ ทั้งโรค ทั้งแมลง ซึ่งมีรายนามดังนี้ เพลี้ยหอย ไรแดง เพลี้ยไฟ หนอนเจาะดอก หนอนกินใบ ราดำ ราสนิม ราน้ำค้าง ...คิดว่ายังไม่หมดนะครับ แค่นี้ก็ปวดหัวแล้ว ดันมาพร้อมๆ กันมากขนาดนี้ไม่รู้จะทำไงดี

วันนี้ตั้งใจว่าตอนเย็นจะเล่นงานเพลียหอยก่อน ด้วยสูตรกำจัดเพลี้ยหอยจากก้นครัว แล้วอย่างอื่นค่อยว่ากันทีหลัง...คิดแล้วเหนื่อย ปล่อยตายเลยดีมั๊ยเนี่ย ?

วันอังคารที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2553

เลิกปลูกกุหลาบไปปลูกกระบองเพชรดีกว่า !


ช่วงนี้ของปีที่แล้ว จะเป็นช่วงที่กุหลาบค่อนข้างจะแตกกิ่งแตกดอกอุดมสมบูรณ์ แต่ด้วยอากาศที่่ร้อนเหลือใจในปีนี้ทำให้กุหลาบดูจะไม่ค่อยแข็งแรงเท่าที่ควร โรคก็เยอะกว่าปกติ ดอกกุหลาบก็แคระแกน เห็นแล้วก็สงสาร

ยังไงขอเกาะกระแสโลกร้อนหน่อยนะครับ คิดว่าถ้าโลกยังร้อนขึ้นเรื่อยๆ แบบนี้ เราชาวกุหลาบทั้งหลายมีหวังได้ย้ายไปปลูกกระบองเพชรกันเป็นแน่

โลกร้อนขึ้นเราจะช่วยอะไรกันได้บ้าง ? เป็นคำถามที่ผมถามตัวเองอยู่เสมอ แต่ก็ไม่ได้ทำอะไรเพื่อเป็นการช่วยเหลือโลกใบนี้สักที่ คิดว่าหลายท่านก็คงคล้ายกัน อย่างพวกดาราเค้าก็ยังออกมาแสดงพลังร้องเพลงอะไรต่ออะไรกัน เราเองได้แต่คิดไม่ทำซะที โกรธตัวเองเหลือเกิน อยากปลูกต้นไม้ที่จะโตเป็นไม้ใหญ่ได้สักต้นก็ไม่รู้จะปลูกที่ไหน อยู่ในเมืองหลวงเห็นแต่เค้าตัดทิ้งเพื่อขยายถนน ปลูกทดแทนก็หล่อมแหลมไม่รู้จะโตหรือเปล่า

ข้อโทษนะครับ ถ้าวันนี้มาบ่นโดยเฉพาะ ก็โลกมันร้อนเราก็เลยเป็นบ้าตามไปด้วย :) ใครมีไอเดียลดโลกร้อนดีๆ แนะนำกันบ้างนะครับ

วันจันทร์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

อยากย้ายต้นกุหลาบไปปลูกอีกที่หนึ่งจะทำอย่างไร ?


หลายท่านประสบปัญหาเรื่องดินปลูกไม่ดี พื้นที่ปลูกไม่ได้รับแสงเพียงพอ หรือรากไม้ใหญ่เข้าไปรบกวน จำเป็นต้องย้ายต้นกุหลาบที่ปลูกลงดินในสวนไปไว้อีกที่หนึ่ง เพื่อให้ต้นผลิดอกสะพรั่ง วิธีง่ายๆ ที่ปฏิบัติได้คือ การย้ายแบบขุดกุหลาบล้างราก เริ่มจากตัดแต่งกิ่งให้เหลือกิ่งใหญ่ไว้ 3-4 กิ่ง ยาวประมาณ 1 ฟุต ใช้เสียมขุดรอบๆ ต้น หากรากขาดก็ไม่เป็นไร นำต้นออกจากหลุมล้างดินออกให้สะอาด แล้วตัดแต่งรากที่เสียหายออกให้เหลือ 15-20 เซนติเมตร จุ่มทั้งต้นลงในสารละลายป้องกันกำจัดเชื้อรา ประมาณ 10 -20 นาที แล้วนำไปปลูกในพื้นที่ใหม่ที่ต้องการทันที

Tips
  • ก่อนขุดย้ายต้นกุหลาบควรงดให้น้ำประมาณ 1 เดือน หรือน้อยกว่านั้นหากไม่เริ่มเหี่ยว เพื่อให้กุหลาบเก็บสะสมอาหารเพียงพอ
  • กุหลาบที่ปลูกลงดินสามารถอดน้ำได้นานถึง 2 เดือน จึงไม่ต้องกังวลว่าต้นจะตาย
  • หากรากแขนงกุหลาบขาด ไม่เป็นไร ระวังอย่าให้รากที่โคนต้นฉีกเสียหายก็พอ
  • หลังจากขุดมาแล้วควรปลูกทันที หากต้องรออีก 2 -3 วัน ให้เก็บไว้ในที่ชื้นเย็น คลุมด้วยกระสอบป่านหรือผ้าหนาๆ ชุบน้ำ หากต้องรออีกหลายวันให้นำต้นแช่สารละลายป้องกันกำจัดเชื้อรา แล้วใส่ในถุงพลาสติกขนาดใหญ่ รัดปากถุงให้แน่นเก็บในตู้เย็นได้นานถึง 1 เดือน
โดย อุไร จิรมงคลการ

วันเสาร์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

กุหลาบอายุยืนเพียงใด ทำไมปลูกไม่นานก็ตาย


จริงๆ แล้วกุหลาบมีอายุยืนกว่า 10 ปี ในต่างประเทศมีอยู่หลายสวนที่ต้นกุหลาบเก่าแก่อายุยืนกว่า 100 ปี สำหรับในเมืองไทย กุหลาบที่มีอายุยืนอยู่ที่พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ จังหวัดเชียงใหม่ และโรสการ์เด้นที่สวนสามพราน จังหวัดนครปฐม

สำหรับสาเหตุที่ปลูกกุหลาบแล้วตาย ส่วนใหญ่ตายเพราะโรค ซึ่งมีที่มาจากสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม ดินปลูกไม่ดีพอ ขาดการดูแล ทำให้ต้นกุหลาบโ?รม อ่อนแอ โรคจึงเข้าทำลายจนต้นตาย

วันศุกร์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

อยากทำซุ้มกุหลาบเลื้อยไว้ในสวนบ้าง



ในต่างประเทศนิยมนำกุหลาบเลื้อยมาปลูกเป็นซุ้มไม้เลื้อยหรือเป็นแนวรั้วกันมาก สำหรับในเมืองไทย การปลูกกุหลาบประเภทนี้เป็นที่ต้องการเช่นกัน แต่ไม่แพร่หลาบนัก เพราะหากไม่ตัดแต่งกิ่งบ่อยๆ กุหลาบก็จะไม่ออกดอก และมีกิ่งก้านยืดยาว เกะกะเก้งก้าง ทรงพุ่มไม่สวยงาม บ้างก็ว่าเนื่องจากสภาพอากาศหนาวเย็นไม่พอ และมีพันธุ์กุหลาบให้เลือกน้อย

แท้ที่จริงแล้วในเมืองไทยสามารถปลูกกุหลาบเลื้อยเป็นซุ้มไม้ประดับได้เช่นกัน โดยเฉพาะในที่ที่อากาศเย็น สิ่งสำคัญคือ ต้องหมั่นจัดแต่งกิ่ง จับผูกมัดติดกับซุ้มเพื่อบังคับกิ่งให้ไปในทิศทางที่ต้องการ และหมั่นตัดแต่งกิ่งที่ยืดยาว เกะกะ ดอกที่เหี่ยวแห้งอยู่เสมอ ก็จะได้ซุ้มกุหลาบที่สวยงาม

Tips
  • กุหลาบเลื้อยพันธุ์ที่ปลูกในเมืองไทยได้ผลดี เช่น พันธุ์ Anglea, Clair Matin, Compassion, Don Juan, Diana, Peace เลื้อย บ้างก็ว่า Clair Matin และ Don Juan เป็นพันธุ์ที่ปลูกในเมืองไทยได้สวยที่สุด ให้ดอกดก สีสย ก้านแข็ง บานทน แลพแข็งแรงทนทานมาก
  • ซุ้มกุหลาบอาจทำจากเหล็กเส้นที่ถักเป็นรูปทรงต่างๆ หรือทำด้วยไม้ระแนงก็ได้ แต่เหล็กจะมีอายุการใช้งานนานกว่าซุ้มที่ทำด้วยไม้
  • วิธีบังคับให้กุหลาบเลื้อยออกดอกตลอดปีคือ หมั่นตัดแต่งกิ่งและโน้มกิ่งกระโดงที่พุ่มสูงขึ้นให้อยู่ในแนวนอน จะช่วยให้แตกกิ่งแขนงพร้อมกับผลิดอกมากขึ้น
โดย อุไร จิรมงคลการ

วันพฤหัสบดีที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

Tips ในการดูแลกุหลาบ


Tips เล็กๆ น้อยๆ ในการดูแลต้นกุหลาบ
  1. วิธีจัดการทั่วไปกับแมลงและโรค คือ อย่าปล่อยให้วัชพืชขึ้นในแปลงปลูกและใกล้แปลงปลูก
  2. เก็บใบกุหลาบที่ร่วงออกจากแปลงปลูก เอาไฟ ตัดซอยกิ่งกุหลาบให้โปร่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก
  3. อย่ารดน้ำกุหลาบหลัง 15.00 น. จำให้ใบเปียก-ชื้นไปตลอดคืน โรคจะแพร่กระจายง่ายขึ้น
  4. ตรวจแปลงกุหลาบอย่างสม่ำเสมอ จัดการทันทีเมื่อพบอาการ
  5. จัดโปรแกรมพ่นยาคุมป้องกันป้องกันแมลงและศัตรูกุหลาบ
  6. พ่นยาให้ถูกวิธี ให้ทั่วถึง แต่ไม่ใช่เปียกโชก ไรแดงต้องพ่นเข้าใต้ใบด้วย
  7. อย่าผสมยาหลายชนิดเข้าด้วยกันนอกจากแน่ใจว่าผสมกันได้
  8. อย่าใช้ยาชนิดหรือกลุ่มเดียวกันซ้ำเกินกว่า 2 ครั้งเพื่อป้องกันการดื้อยา

วันอังคารที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

เข้าหน้าฝนกุหลาบอ่อนแอ ถ้าดูแลไม่ดี


ตอนนี้เข้าหน้าฝนแล้วต้องหมั่นดูแดกุหลาบที่ปลูกไว้กันหน่อยนะครับ โดยเฉพาะเรื่องรากเน่าเนื่องจากได้รับน้ำมากเกินไป ถ้าพบว่ามีปัญหานี้ก็ควรน้ำวัสดุคลุมดินพึ่งให้หมาดๆ แล้วค่อยนำมาคลุมใหม่ก็จะช่วยได้ระดับหนึ่ง แล้วก็งดการให้ปุ๋ยกุหลาบสักระยะ เพราะรากไม่ดูดซึมปุ๋ยแล้วให้ไปก็เปล่าประโยชน์อาจเป็นโทษอีกตางหาก รอให้ต้นกุหลาบฟื้นแล้วค่อยให้ปุ๋ยใหม่

อีกอย่างหนึ่งก็คือโรคกุหลาบนะครับ ช่วงนี้ต้องหมั่นทำความสะอาดแปลงปลูกสักหน่อยนะครับ พยายามเก็บใบกุหลาบที่เหลืองๆ แห้ง หรือเน่าทิ้งให้หมด ทำให้แปลงปลูกกุหลาบ หรือกระถางปลูกโปร่งให้มากที่สุด ให้แสงแดดส่องผ่านถึงผิวดินและโคนต้นกุหลาบได้ก็จะช่วยได้มากในเรื่องของโรคระบาดที่จะเกิดกับกุหลาบแสนสวยของเรา

ถ้าหากว่าฝนตกต่อเนื่องไม่หยุดเลย ก็ควรย้ายกระถางกุหลาบหลบฝนบ้างนะครับ ในช่วงฤดูฝนนี้ ผมว่าถ้าเราดูแลดีๆ ก็จะเป็นข่วงที่กุหลาบเติบโตได้ดีพร้อมที่จะให้ดอกงามๆ ได้ในปลายฤดูนะครับ สำหรับผมแล้วก็จะพยายามไม่ให้กุหลาบออกดอก เพราะดอกกุหลาบที่บานในหน้าฝนจะบานไม่ทน สู้เรารักษาต้นให้แข็งแรงไว้น่าจะดีกว่าครับ

วันเสาร์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

กุหลาบพันธุ์ Imp (อิ้ม)


Imp (อิ้ม) กุหลาบพุ่มลำต้นเตี้ย ดอกบานรูปถ้วย กลีบดอกสีเหลืองอ่อนขลิบสีชมพู ขนาดดอก 5-7 เซนติเมตร มีกลิ่นหอมอ่อนๆ กุหลาบพันธุ์นี้ผมยังไม่เคยปลูกเองนะครับ รูปถ่ายมาจากส่วนกุหลาบที่น้อมจิตไก่อย่างถนนศรีนครินทร์

วันพฤหัสบดีที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

กุหลาบพันธุ์ Evareen English Rose (อีวารีนอิงลิชโรส)


Evareen English Rose (อีวารีนอิงลิชโรส) เป็นกุหลาบเลื้อย ดอกบานรูปถ้วยแบบ กลีบดอกกึ่งซ้อน สีชมพู ออกดอกเป็นช่อขนาดใหญ่ มีดอกย่อย 20-30 ดอก ขนาดดอก 3-5 เซนติเมตร มีกลิ่นหอม

สำหรับผมแล้ว ผมว่ากุหลาบพันธุ์นี้เลี้ยงไม่ยากครับ ต้นโตเร็ว และเนื่องจากว่าเป็นกุหลาบเลื้อยดังนั้นเราจึงต้องทำห้างให้เลื้อยด้วย ถ้าเลี้ยงดีๆ ก็จะเป็นพุ่มสวยงามครับ

วันอังคารที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

กุหลาบที่ปลายกิ่งแห้งดำ (Die-back)


เกิดจากการที่เชื้อราเข้าทางรอยแผลที่ตัดดอกและกิ่ง โดยกิ่งจะดำจากปลายกิ่งลงไปถึงข้อหรืออาจลามเข้าไปข้างในลำต้นกุหลาบ

การป้องกันและการแก้ไข ในขณะที่เป็นมากๆ เวลาตัดแต่งกิ่งกุหลาบให้ทารอยแผลด้วยปูนแดง หรือยาฆ่าเชื้อราทุกครั้ง และถ้าจะตัดแต่งกิ่งที่เป็นส่วนที่ดำ ก็ควรตัดให้เลยส่วนที่ดำลงไปให้มาก

บทความจากหนังสือกุหลาบราชินีแห่งดอกไม้
โดย อาจารย์เศรษฐมันตร์ กาญจนกุล

วันจันทร์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

กุหลาบเป็นโรคใบจุดสีดำ (Black spot)


สาเหตุเกิดจากใบมีความชื้นในตอนกลางคืน มักเกิดในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว โดยใบจะมีจุดสีดำ หรือสีน้ำตาลบนใบแก่ โรคนี้เป็นโรคที่ลุกลามได้เร็ว ดังนั้นถ้าไม่รีบรักษาจะทำให้ใบเหลืองและร่วงจนหมดต้นได้

วิธีแก้ไข เมื่อสังเกตเห็นว่ากุหลาบมีอาการของโรคก็ให้รีบเด็ดใบที่เป็นโรคนำไปเผาไฟ หรืออาจพ่นด้วยยา เบนแลท ไทเทนเอ็ม-45 แคปปทน ฉ๊ดพ่นทุกๆ 5 วัน เพื่อป้องกันไม่ให้โรคลุกลาม

บทความจากหนังสือกุหลาบราชินีแห่งดอกไม้
โดย อาจารย์เศรษฐมันตร์ กาญจนกุล

วันพฤหัสบดีที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

โรคราสนิม (rust) กินกุหลาบ

เกิดจุดฟองสีส้มใต้ใบกุหลาบ กิ่งบวม มีสปอร์สีส้มจำนวนมาก


วิธีแก้ไข เด็ดใบส่วนที่เป็นโรคทิ้งเผาทำลาย หรือฉีดพ่นด้วยคอปเปแอร์"ฮครอกไซด์ ซัลเฟอร์ไตรโฟรีน ซีเน็บ

บทความจากหนังสือกุหลาบราชินีแห่งดอกไม้
โดย อาจารย์เศรษฐมันตร์ กาญจนกุล

กุหลาบเป็นโรคราแป้ง (Powdery mildew)


เกิดจากการที่กลางวันมีอากาศร้อน แห้ง แต่กลางคืนเย็นและชื้น ทำให้ก้านคอดอกและใบเป็นผงสีขาวเกาะอยู่ตามใบ และใบจะพอง

วิธีแก้ไข พ่นน้ำล้างใบ พ่นยาไฟราโซฟอส ไตรโฟไรน์ และควรทำให้อาหาศถ่ายเทได้ดีเสมอ

บทความจากหนังสือกุหลาบราชินีแห่งดอกไม้
โดย อาจารย์เศรษฐมันตร์ กาญจนกุล

วันอังคารที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

โรคราน้ำค้าง (Downy mildew) ที่เกิดกับใบกุหลาบ



สาเหตุเกิดจากใบกุหลาบที่เปียกชื้นในตอนกลางคืน ทำให้มีจุดสีแดงคล้ายเป็นสนิม ส่วนมากจะเกิดในช่วงฤดูหนาว

วิธีแก้ไข ถ้าสังเกตเห็นกิ่งใบที่เกิดโรคราน้ำค้าง ก็รีบตัดแล้วนำไปเผาไฟทิ้งเสีย แต่ถ้าหากระบาดมากก็ต้องอาศัยการพ่นยาที่ชื่อ ไดเทนเอ็ม-45 ริโดมิล เมธาแล็กซิล ควรพ่นสัปดาห์ละครั้งจนเห็ฯว่าไม่พบการระบาดแล้วค่อยหยุดการพ่นยา

บทความจากหนังสือกุหลาบราชินีแห่งดอกไม้
โดย อาจารย์เศรษฐมันตร์ กาญจนกุล

วันจันทร์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

หนอนกุหลาบศัตรูตัวร้ายที่คอยกัดกิน


ผีเสื้อที่มาวางไขทิ้งไว้ พอไข่ฟักตัวออกมาเป็นตัวหนอน ตัวหนอนนี่แหละที่จะมาสร้างความเสียหายให้ทั้งใบและดอกกุหลาบ ตัวหนอนจะคอยกัดกินทั้งใบและกลีบดอก เจาะดอกทำให้ใบและดอกของกุหลาบได้รับความเสียหาย

วิธีแก้ไขคือ พ่นยาฆ่าแมลงทั่วไป เช่น ยาไซฮาโลทริน ยาชีวภาพ (แต่สำหรับผมแล้วจะใช้วิธีเด็ดใบที่มีตัวอยู่ไปทิ้ง เพราะว่าปลูกไม่เยอะ และโดยส่วนตัวก็ไม่ชอบใช้ยาฆ่าแมลง)

บทความจากหนังสือกุหลาบราชินีแห่งดอกไม้
โดย อาจารย์เศรษฐมันตร์ กาญจนกุล

วันอาทิตย์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

เพลี้ยไฟ (Thrips) ศัตรูกุหลาบ

(รูป กลีบดอกกุหลาบที่ถูกเพลี้ยไฟเล่นงานจะมีลักษณะหงิกงอไม่สมบูรณ์)

เพลี้ยไฟ เป็นแมลงตัวเล็กลีบเท่ากับเข็ม ซ่อนอยู่ในกลีบดอกกุหลาบ ตัวแก่จะมีปีกสามารถบินได้ โดยตัวเพลี้ยไฟจะทำความเสียหายให้กลีบดอก ใบอ่อนของกุหลาบที่โดนเพลี้ยไฟจะเป็นจุดเหลือง บิดเบี้ยว ยอดอ่อนหงิกงอ กลีบนอกช้ำเป็นจุด หรือเป็นเส้นด่าง วิธีแก้ไขคือ พ่นด้วยยา อะบาเม็คติน, อิมิดาคลอพริค หรืออาจผสมน้ำตาลทรายหรือน้ำอ้อย 50 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร เพื่อล่อให้เพลี้ยไฟออกมากิน แล้วก็พ่นยา แต่การพ่นยาไม่ควรพ่นตอนแดดร้อน


บทความจากหนังสือกุหลาบราชินีแห่งดอกไม้
โดย อาจารย์เศรษฐมันตร์ กาญจนกุล

วันศุกร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ไรแดง (Spider mite) ศัตรูกุหลาบ


แมลงตัวเล็ก สีส้ม แดง หรือเหลือง จะระบาดตอนอากาศแห้ง ไม่ว่าหนาวหรือร้อน โดยจะแสดงอาการ คือ หน้าใบกุหลาบซีดขุ่น เป็นรอยเหลือง หลังใบมีตัวไรแดงคอยเกาะ และดูดกินน้ำเลี้ยง และในบางครั้งก็ทำรังโดยการชักใยสีขาว

วิธีการแก้ไข คือ ควรพ่นยา อะบาเม็คติน เฮ็กซีไธอะซ๊อก เฟนไฟโรซีเมท หรือควรพ่นน้ำเปล่าเข้าใต้ใบกุหลาบแรงๆ เพื่อจะทำให้ไรแดงหลุดออกจากใต้ใบของกุหลาบ

บทความจากหนังสือกุหลาบราชินีแห่งดอกไม้
โดย อาจารย์เศรษฐมันตร์ กาญจนกุล

วันพฤหัสบดีที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

กุหลาบไม่สบาย ระวังตายเพราะโรค


การป้องกันและกำจัดศัตรูกุหลาบนั้นทำได้ไม่ยากเลย หากแต่เราต้องคอยสังเกตต้นกุหลาบอยู่บ่อยๆ เมื่อเกิดโรคจะได้จัดการทันท่วงที และที่สำคัญผู็ปลูกควรศึกษาสภาพแวดล้อมก่อนปลูกให้ดีจะทำให้การป้องกันและกำจัดศัตรูของกุหลาบเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

โดยโรคและแมลงศัตรูกุหลาบที่พบบ่อยมีดังนี้

แมลงศัตรูกุหลาบ
  1. ไรแดง (Spider mite)
  2. เพลี้ยไฟ (SThrips)
  3. หนอนกุหลาบ
  4. เพลี้ยหอย
โรคกุหลาบ
  1. โรคราน้ำค้าง (Downy mildew)
  2. โรคราแป้ง (Powdery mildew)
  3. โรคใบจุดสีดำ (Black spot)
  4. โรคราสนิม (rust)
  5. ปลายกิ่งแห้งดำ (Die-back)
บทความจากหนังสือกุหลาบราชินีแห่งดอกไม้
โดย อาจารย์เศรษฐมันตร์ กาญจนกุล

วันอังคารที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

กุหลาบสื่อความหมาย


ในวันวาเลนไทน์ ซ่งเป็นวันแห่งความรัก ดอกกุหลาบถือเป็นสัญลักษณ์ และของกำนัลสำหรับคู่หนุ่มสาว หรือเพื่อนสนิทมิตรสหาย หรือแทนคำขอบคุณในโอกาสต่างๆ ดังนั้นสีของดอกกุลาบจึงสื่อความหมายต่างกันเมื่อจะให้ดอกกุหลาบแก่ใครสักคน จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นที่เราควรรู้ความหมายสีของดอกกุหลาบ
  • สีแดง สื่อความหมายถึง ความรักและความปรารถนาดี เป็นดอกไม้ของกามเทพ คิวปิด และอีรอส เป็นสิ่งนำโชคนำความรักให้แก่หญิงหรือชายที่ได้รับ
  • สีชมพู สื่อความหมายถึง ความรักที่เป็นความสุขอย่างสมบูรณ์
  • สีขาว สื่อความหมายถึง ความมีเสน่ห์ ความบริสุทธิ์ มิตรภาพและความสงบเงียบ และนำโชคมาให้แก่หญิง หรือชายเช่นเดียวกับกุหลาบแดง
  • สีเหลือง สื่อความหมายถึง เราเป็นเพื่อนที่ดีต่อกันเสมอ
  • สีขาวและแดง สื่อความหมายถึง ความเป็นอันหนึ่งอันเดีนวกัน
  • กุหลาบตูม สื่อความหมายถึง ความงามและความเยาว์วัย
จำนวนดอกกุหลาบบอกความหมายอย่างไร ?
  • 1...รักแรกพบ
  • 2...แสดงความรู้สึกที่ดีให้กัน
  • 3...ฉันรักเธอ
  • 7...คุณทำให้ฉันหลงเสน่ห์
  • 9...เราสองคนรักกันตลอดไป
  • 10...คุณเป็นคนที่ดีเลิศ
  • 11...คุณเป็นสมบัติชิ้นที่มีค่าชิ้นเดียวของฉัน
  • 12...ขอให้เธอเป็นคู่ของฉันเพียงคนเดียว
  • 13...เพื่อนแท้เสมอ
  • 15...ฉันรู้สึกเสียใจจริงๆ
  • 20...ฉันมีความจริงใจต่อเธอ
  • 21...ชีวิตนี้ฉันมอบเพื่อเธอ
  • 36...ฉันยังจำความหลังอันแสนหวาน
  • 40...ความรักของฉันเป็นรักแท้
  • 99...ฉันรักเธอจนวันตาย
  • 100...ฉันอุทิศชีวิตนี้เพื่อเธอ
  • 101...ฉันมีคุณเพียงคนเดียวเท่านั้น
  • 108...คุณจะแต่งงามกับฉันไหม
  • 999...ฉันรักคุณจนวินาทีสุดท้าย
บทความจากหนังสือกุหลาบราชินีแห่งดอกไม้
โดย อาจารย์เศรษฐมันตร์ กาญจนกุล

วันจันทร์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

กุหลาบทรีโรส (Tree Rose) คือกุหลาบอะไร ?

(ในรูปไม่ใช่กุหลาบทรีโรสนะครับ)

ทรีโรสหรือสแตนดาร์ดโรส คือกุหลาบลำต้นยาวตรง เรือนยอดเป็นพุ่ม โดยลำต้นจะเป็นกิ่งพันธุ์ของกุหลาบป่าสูงประมาณ 0.6-1 เมตร แล้วติดตาสายพันธุ์กุหลาบที่ต้องการไว้ที่ยอด ตัดแต่งให้ทรงพุ่มกลม ซึ่งกุหลาบที่นำมาติดตานั้นได้ทั้งกุหลาบหนู กุหลาบดอกเดี่ยว หรือกุหลาบพวง

จากทรงพุ่มที่เลี้ยงไว้อย่างงดงามนี่เอง บางพุ่มอาจใช้เวลานานกว่า 2-3 ปี จึงทำให้ราคาสูงตามไปด้วย แต่ทรงพุ่มที่สูงก็ไม่ควรเกิน 1 เมตร หากมากกว่านี้ จะเลยระดับสายตา มองแล้วไม่สวยงาม เฉลี่ยควรอยู่ระหว่าง 0.6-1 เมตร เมื่อนำมาประดับก็มองเห็นหมดทั้งพุ่ม

ดังนั้นเมื่อมีการประกวดกุหลาบมักจะกำหนดประเภท อย่างเช่น ประเภทต้นสูง 60 เซนติเมตร ขึ้นไป และต้นเตี้ย 25-60 เซนติเมตร

บทความจากหนังสือกุหลาบราชินีแห่งดอกไม้
โดย อาจารย์เศรษฐมันตร์ กาญจนกุล

วันอาทิตย์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

การเด็ดยอดอ่อนและดอกอ่อนกุหลาบ


เพื่อให้กุหลาบไม่โทรมเกินไปเนื่องจากการให้ดอกตลอดเวลาทำได้โดย
  1. การเด็ดยอดอ่อน (เออร์ลี่พิ้นช์-early pinch) เด็ดยอดพร้อมดอกอ่อน (ซึ่งบางครั้งยังไม่เป็นรูปดอก) ขณะืที่ยอดอาจายาวเพียง 3-4 เซนติเมตร โดยเหลือใบสมบูรณ์ไว้เล็กน้อย ใบที่เหลืออยู่จะใหญ่สมบูรณ์และแตกยอดใหม่ที่แข็งแรง
  2. เด็ดดอกอ่อน (ซอฟท์พิ้น-soft pinch) ถ้าเด็ดยอดแบบแรกไม่ทัน จนยอดยาวมีใบสมบูรณ์หลายชุด และดอกเริ่มโตขนาดเมล็ดถั่วลันเตา ให้เด็ดดอกพร้อมใบลงมาถึงใบสมบูรณ์ชุดแรก
การขาดสารอาหารทำให้กุหลาบทรุดโทรม เหตุที่ทำให้ขาดสารอาหารอาจมาจากหลายทาง แต่ที่สำคัญคือ กุหลาบใบร่วงหรือใบเสียหาย ดอกเล็กแคระแกรน ดังนั้นกุหลาบจึงต้องสร้างใบใหม่ให้มากที่สุดโดยเร็ว ด้วยการพยายามแตกยอดจากตาทุกตาแต่โดยธรรมชาติของดอกกุหลาบ ยอดเกือบทุกยอดจะมีดอก หากปล่อยดอกไว้ต้นจะเสียหายมากขึ้น จึงต้องเด็ดดอกทิ้งเสียบ้าง วิธีนี้ใช้ได้กับทั้งกุหลาบตัดดอกและกุหลาบประดับ

บทความจากหนังสือกุหลาบราชินีแห่งดอกไม้
โดย อาจารย์เศรษฐมันตร์ กาญจนกุล

วันเสาร์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ปัญหาหนักอกของเจ้าของกุหลาบมือใหม่


ซื้อกุหลาบมาปลูก ออกดอกครั้งเดียวหลังจากนั้นกุหลาบก็ไม่ออกดอกอีกเลย

กุหลาบที่เราซื้อมาปลูกผู้เลี้ยงเขาบำรุงอย่างเต็มที่ โดยใส่ปุ๋ยเร่งดอกบำรุงต้น เมื่อดอกงามก็นำมาขาย หากซื้อมาก็ต้องบำรุงอย่างที่เขาบำรุงไว้ โดยถามสูตรปุ๋ยและวิธีการเลี้ยงให้เข้าใจ กุหลาบที่นำมาขายมักจะมีแกลบรองกระถางมาแล้ว และปูทับด้านบนด้วยใยมะพร้าว หากซื้อมาควรเปลี่ยนกระถาง โดยอย่าให้ตุ้มดินที่รากแตกและเอาแกลบออกส่วนหนึ่งโดยยังเหลือแกลบอยู่บ้าง และเอาดินใส่เข้าไปแทนที่

กุหลาบที่เบ่งบานเมื่อเลี้ยงไปไม่นานก็ทรุดโทรมโรยราตามอายุ ซึ่งวิธีฟื้นฟูกุหลาบทรุดโทรม ด้วยการเด็ดดอกอ่อนหรือยอดอ่อนทิ้งบ้าง เพื่อเป็นการพักต้นเลี้ยงใบให้สมบูรณ์แล้วค่อยปล่อยให้ออกดอกอีกครั้ง

บทความจากหนังสือกุหลาบราชินีแห่งดอกไม้
โดย อาจารย์เศรษฐมันตร์ กาญจนกุล

วันศุกร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2553

ได้เวลาตัดแต่งกิ่งกุหลาบแล้ว

(รูป กิ่งกระโดงของกุหลาบ)

กุหลาบเมื่อปลูกมาได้สักระยะ ก็เริ่มแตกกิ่งก้านสาขามากมาย ทำให้พุ้มใบดูรกและเกิดโรคตามมา จึงควรหมั่นตัดแต่งกิ่งอยู่เสมอ

การตัดแต่งกิ่งกุหลาบมีหลายวิธี แต่ละวิธีจะใช้หลักการที่คล้ายกัน คือตัดแต่งเพื่อคัดเลือกให้ได้กิ่งที่สมบูรณ์ (เพื่อการตัดดอก) และเพื่อให้ได้กิ่งกระโดง water sprout หรือ bottom break) มากขึ้น และจะรักษาใบไว้กับต้นให้มากที่สุด เพื่อให้ได้กิ่งที่สมบูรณ์ที่สุด ควรรักษาให้พุ้มกุหลาบโปร่งและไม่สูงมากเกินไปนัก เพื่อสะดวกต่อการดูแลรักษา และแสงที่กระทบโคนต้นกุหลาบจะช่วยกระตุ้นให้เกิดกิ่งกระโดงอีกด้วย การตัดแต่งกิ่งกุหลาบที่นิยมในปัจจุบันได้แก่การตัดแต่งกิ่งแบบ ตักสูงและต่ำ เพื่อให้มีการออกดอกสม่ำเสมอตลอดทั้งปี

สำหรับผู้ที่ปลูกกุหลาบแล้วมีดอกบานจนร่วงโรยไม่อยากตัดทิ้ง ให้ทำใจใหม่ หากเราตัดตรงช่อดอกที่ร่วงแล้วออก กุหลาบจะรีบแตกยอดออกดอกใหม่ให้ทันใจทีเดียว

บทความจากหนังสือกุหลาบราชินีแห่งดอกไม้
โดย อาจารย์เศรษฐมันตร์ กาญจนกุล

วันพฤหัสบดีที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2553

ถึงเวลาเปลี่ยนดินเพื่อเพิ่มธาตุอาหารให้กุหลาบแล้ว


การปลูกกุหลาบลงกระถาง เมื่อเวลาผ่านไปนาน กุหลาบได้นำเอาธาตุอาหารในดินไปใช้จนหมดที่เรียกว่า "ดินจืด" จึงไม่เพียงพอต่อกุหลาบ ดอกกุหลาบจึงเริ่มเล็กลง ใบเหลือง ออกดอกน้อย หรือเป็นเพราะรากกุหลาบได้เจริญเติบโตเต็มที่แล้ว จึงได้เวลาเปลี่ยนกระถางใหม่เสียที มี 3 แบบ ให้ลองทำดู

  1. แบบไม่เอาต้นออกจากกระถาง ใช้มีดหรือเสียมเล็กๆ แทงดินเป็นวงรอบต้นห่างจากขอบกระถางประมาณ 5 เซนติเมตร ควักเอาดินใหม่ใส่แทน อัดให้แน่นพอประมาณ รดน้ำให้ชุ่ม
  2. แบบเอาต้นออกจากกระถาง ถอดต้นพร้อมตุ้มดินออกจากกระถาง เอามีดตัดดินและรากเหลือเป็นตุ้ม เอาดินใหม่ใส่ก้นกระถาง โรยด้วยหินฟอสเฟต หรือขุยมะพร้าว แล้วเอาต้นที่ตุ้มดินลงปลูกในกระถาง
  3. แบบเอาต้นออกจากกระถาง-ล้างราก ถอนต้นกุหลาบออกจากกระถาง แกะดินออกจากรากให้หมด แล้วจุ่มน้ำล้างดินออก ตัดรากส่วนหนึ่งทิ้ง โดยเฉพาะรากที่ขมวด คดงอมากๆ ออก เหลือไว้ยาวประมาณ 10 เซนติเมตร เอาดินใหม่ใส่ก้นกระถางพูนเป็นโคก เอาดินวางคร่อมให้รากแผ่เหนือโคก ใส่ดินให้เต็มกระถางกุหลาบ
บทความจากหนังสือกุหลาบราชินีแห่งดอกไม้
โดย อาจารย์เศรษฐมันตร์ กาญจนกุล

วันพุธที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2553

ซื้อกุหลาบมาอยากเปลี่ยนกระถางทำอย่างไร ?


  1. ก่อนอื่นต้องเอาเครื่องปลูกออกจากถุงประมาณครึ่งหนึ่ง ระวังอย่าให้ดินที่ตุ้มรากหลุด ถ้าเป็นแกลบดิบต้องเอาแกลบออกก่อนส่วนหนึ่ง
  2. จากนั้นวางกุหลาบลงในกระถางเว้นระยะจากขอบกระถาง 1-2 นิ้ว และเอาดินปลูกใส่เข้าไป กลบเครื่องปลูกเดิมกดดินให้แน่นพอสมควร ให้ระดับเครื่องปลูกเดิมต่ำกว่าปากกระถางเล็กน้อย
  3. ใส่ขุยมะพร้าวหรือเปลือกถั่วกลบหน้าดิน รดน้ำให้ชุ่มแล้วตั้งกระถางกุหลาบให้ได้รับแสงแดดอย่างน้อยครึ่งวัน จะทำให้ต้นกุหลาบแข็งแรงขึ้น

บทความจากหนังสือกุหลาบราชินีแห่งดอกไม้
โดย อาจารย์เศรษฐมันตร์ กาญจนกุล

วันศุกร์ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2553

การปลูกกุหลาบลงกระถาง


การปลูกกุหลาบในกระถา่งมีข้อดีหลายอย่าง สะดวกในการเคลื่อยย้าย กะทัดรัด ไม่เปลืองเนื้อที่ สามารถนำไปวางไว้ตรงมุมที่ต้องการได้ในบางโอกาสนำเข้าไปตั้งประดับตกแต่งในอาคารก็ยังได้ เหมาะสำหรับผู้ปลูกที่มีพื้นที่จำกัด ข้อเสียคือต้องดูแลมากกว่าการปลูกกุหลาบลงดิน อย่างเช่นไม่อยู่บ้าน ลืมรดน้ำ 5-6 วัน ต้นไม้อาจน๊อกได้ หรือใส่ปุ๋ยเกินกำลังที่ดินมีก็กลายเป็นโทษ และต้นเจริญเต็มที่รากแน่นเกินไป ต้องขยายกระถางเป็นต้น


อย่าลืมว่ากุหลาบเป็นไม้ต้องการแสงแดดอย่างน้อยวันละ 6 ชั่วโมง หากจะยกกุหลาบมาวางโชว์ในบ้านละก็ ต้องหมั่นเอาออกแดดบ้าง และที่สำคัญอย่ารดน้ำจนชุ่มมากเกินไป เนื่องจากอัพแดดน้ำอาจขังรากเน่า (สังเกตใบเหลืองแล้วค่อยๆ ร่วงโรยจนหมด) โชว์จนดอกบานร่วงแล้วก็ตัดแต่งกิ่งนำไปวางไว้นอกอาคารตามเดิม

การเตรียมกระถาง จะเป็นกระถางพลาสติก หรือกระถางดินเผาก็ได้ ขนาดประมาณ 10-12 นิ้ว ใส่ดินที่ผสมไว้รองก้นกระถางก่อนที่จะนำกุหลาบลงกระถาง 1 ส่วน 4


บทความจากหนังสือกุหลาบราชินีแห่งดอกไม้
โดย อาจารย์เศรษฐมันตร์ กาญจนกุล

วันพุธที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2553

การปลูกกุหลาบลงดิน


การปลูกกุหลาบสักต้นหรือหลายๆ ต้น สิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงคือพื้นที่ที่จะปลูก หากไม่มีพื้นดินก็ต้องปลูกลงกระถาง กระถางก็ต้องเปลี่ยนให้ใหญ่ขึ้นเมื่อกุหลาบโตขึ้น ควรกะระกระถางกับพื้นที่ว่างในอนาคตไว้ด้วย หากมีพื้นที่ก็ปลูกลงดินได้เลย แต่อย่าปลูกชิดติดกันกับพรรณไม้อื่นๆ เพราะจะทำให้เบียดเสียด แย่งอาหารกันดีไม่ดีกุหลาบจะโทรมไม่ออกดอกให้เห็น การปลูกกุหลาบลงดินนั้นจะทำให้กุหลาบเจริญเติบโตได้อย่างเต็มที่รากของกุหลาบสามารถชอนไชหาอาหารได้อย่างอิสระ ซึ่งจะทำให้กุหลาบมีลักษณะลำต้นที่แข็งแรง ทรงพุ่มสวยงาม กุหลาบสามารถปลูกได้ทั้งในดินที่เป็นกรดหรือด่าง แต่เจริญเติบโตได้ดีในดินที่ค่อนข้างเป็นกรดเล็กน้อย คือมี pH ประมาณ 4.5-6.5 ถ้าดินเป็นกรดมากให้เติบปูนขาว 60-100 กิโลกรัมต่อ 100 ตารางวา แต่ถ้าดินเป็นด่างก็ใส่กำมะถันผง 20-50 กิโลกรัมต่อ 100 ตารางวา เมื่อเตรียมแปลงปลูกเรียบร้อยแล้ว ให้ขุดหลุมปลูกกว้างและลึก 30 x 30 เซนติเมตร (ถ้าเตรียมหลุมกว้างและลึกกว่านี้ก็จะเป็นการดียิ่งขึ้น) จากนั้นก็ใส่ปุ๋ยคอกรองก้นหลุม เช่น ขี้เป็ด ขี้ไก่ ขี้วัว ฯลฯ ประมาณหลุมละ 1 บุ้งกี๋ และใส่ปุ๋ยซุปเปอร์ฟอสเฟตหรือปุ๋ยกระดูกหลุมละ 1 กำมือ อีกครั้ง คลุกเคล้าให้เข้ากันแล้วจึงนำกิ่งพันธ์กุหลาบลงปลูก กลบดินที่โคนต้นให้แน่น รดน้ำให้ชุ่มและควรปลูกช่วงเย็นจะดีกว่าช่วงเช้า เพราะช่วงเช้าแสงแดดจะเริ่มแรงขึ้นกุหลาบอาจล้าได้ หากปลูกตอนเย็นกุหลาบกุหลาบอิ่มน้ำอากาศเย็นสบายมีเวลาเตรียมตัวได้นานกว่าก่อนถึงช่วงเช้าของอีกวัน

บทความจากหนังสือกุหลาบราชินีแห่งดอกไม้
โดย อาจารย์เศรษฐมันตร์ กาญจนกุล

วันจันทร์ที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2553

ควรใส่ปุ๋ยกุหลาบอย่างไรดี


การปลูกในระยะแรกจะเป็นช่วงที่ต้นกุหลาบกำลังเจริญเติบโตสร้างกิ่งและใบ จึงควรใส่ปุ๋ยเคมีที่มีสูตรตัวแรกสูงคือไนโตรเจนสูง ประมาณ 1 กำมือ / 15 วัน โดยประมาณ โรยปุ๋ยให้รอบๆ ต้นห่างจากโคนต้น 4-6 นิ้ว หากเป็นกุหลาบในกระถางควรโรยรอบขอบริมกระถาง จากนั้นก็รดน้ำตามใช้ชุ่ม เมื่อกุหลาบเริ่มให้ดอก ควรใส่ปุ๋ยเคมีที่มีฟอสฟอรัสและโพแทสเซียมสูงควบคู่กันไปเพื่อเร่งการออกดอก และทำให้ก้านดอกแข็งแรง

ข้อควรระวังในการใส่ปุ๋ย หลังจากปลูกแล้วควรโรยปุ๋ยให้กระจายรอบๆ ต้น อย่างสม่ำเสมออย่าใส่กระจุกที่จุดใดจุดหนึ่งเพราะอาจทำให้เกิดการเสียหายต่อต้นกุหลาบได้ เนื่องจากมีความเข้มข้นของปุ๋ยตรงจุดที่ใส่มากเกินไป การให้ปุ๋ยกุหลาบควรให้ทุกๆ 7 วัน

บทความจากหนังสือกุหลาบราชินีแห่งดอกไม้
โดย อาจารย์เศรษฐมันตร์ กาญจนกุล

ปุ๋ยชีวภาพจำเป็นหรือไม่สำหรับกุหลาบ


สำหรับปุ๋ยชีวภาพ (Biofertilizer) กำลังเป็นที่นิยมมากเพราะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและปรัยดต้นทุนให้กับผู้ปลูกกุหลาบได้ 5-10 เท่า ปุ๋ยชีวถาพช่วยเพิ่มธาตุอาหารให้แก่ดิน กระตุ้นการเจริญเติบโตของพืชได้ดี

บทความจากหนังสือกุหลาบราชินีแห่งดอกไม้
โดย อาจารย์เศรษฐมันตร์ กาญจนกุล

วันอาทิตย์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2553

เลือกปุ๋ยแบบไหนดีสำหรับกุหลาบ


โดยทั่วไปปุ๋ยแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ ปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยวิทยาศาสตร์

ปุ๋ยอินทรีย์ ได้แก่ ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด และเศษอาหารจากครัวเรือนก็นำมาหมักเป็นปุ๋ยได้

ประโยชน์ของปุ๋ยคอก...มีอะไรบ้าง ปุ๋ยคอกได้แก่ ขี้หมู ขี้เป็ด ขี้ไก่ ขี้วัว ฯลฯ นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายเพราะหาได้ง่ายตามท้องถิ่น หากอยู่ในเขตกรุงเทพฯ ก็มีปุ๋ยคอกแบบสำเร็จจำหน่ายอยู่มาก ปุ๋ยคอกช่วยปรับปรุงดินให้โปร่งและร่วนซุย ทำให้การเตรียมดินง่ายขึ้น กล้าไม้มีการเจริญเติบโตเร็ว การปลูกกุหลาบก็จำเป็นต้องใส่ปุ๋ยคอก 1 ส่วนในเครื่องปลูก เพื่อช่วยปรับปรุงโครงสร้างของดินให้เหมาะสมต่อการเจริญเติมโตของกุหลาบ ช่วยให้ดินมีการระบายน้ำและอากาศที่ดีขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งธาตุอาหารของจึลินทรีที่เป็นประโยชน์ในดิน ที่สำคัญยังเป็นมิตรกับธรรมชาติอีกด้วย

ปุ๋ยคอกมีส่วนช่วยในการเพิ่มความโปร่งและให้ธาตุอาหารในดินก็จริง แต่ก่อนใช้ต้องนำมาตากทิ้งไว้ให้ผ่านการย่อยสลาย คลายความร้อนลงก่อน ยิ่งเป็นปุ๋ยขี้ไก่จะเข้มข้นแล้วเค็มมากจะเป็นอันตรายต่อระบบรากควรใส่แต่น้อย หรือผสมดินคลุกเคล้า 1 ต่อ 30 ตากทิ้งไว้ก่อนใช้ก็จะดี หาดใส่ปุ๋ยกระดูกป่นเสริมลงไปบ้างจะเติบโตได้มากขึ้น

ปุ๋ยคอกจะมีเมล็ดวัชพืชติดมาด้วย หากวัชพืชงอกขึ้นมาก็ให้หมั่นถอนทิ้ง เพราะจะแย่งสารอาหารที่สำคัญไปหมด

ก่อนใส่ปุ๋ย สังเกตดูหน้าดินแข็งก็พรวนดินหน้าดินก่อน โดยใช้เหล็กปลายแหลมพรวนเบาๆ และอย่าให้ลึกมากเพราะจะทำให้รากขาด หากเลี้ยงไปสักพักดินแข็งมากก็ให้เปลี่ยนดินเสียใหม่

ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ ได้มากจากการผลิตหรือสังเคราะห์จากแร่ธาตุต่างๆที่ได้ตามธรรมชาติ ปุ๋ยวิทยาศาสตร์มีอยู่สองประเภท คือ แม่ปุ๋ยหรือปุ๋ยเดี่ยว และปุ๋ยผสม
  • ปุ๋ยเดี่ยวหรือแม่ปุ๋ย ได้แก่ ปุ๋ยพวกแอมโมเนี่ยมซัลเฟต โพแทสเซียมคลอไรด์ ฯลฯ ซึ่งมีธาตุอาหารหลัก คือ ไนโตรเจน (N) ฟอสฟอรัส (P) และโพแทสเซียม (K) เป็นองค์ประกอบอยู่ด้วยหนึ่งหรือสองธาตุด้วยกัน
  • ปุ๋ยผสม คือ ปุ๋ยที่มีการนำเอาแม่ปุ๋ยหลายๆ ชนิดมาผสมรวมกันเพื่อให้ปุ๋ยที่ผสมได้มีปริมาณและสัดส่วนของธาตุอาหาร N,P และ K ตามที่ต้องการ
บทความจากหนังสือกุหลาบราชินีแห่งดอกไม้
โดย อาจารย์เศรษฐมันตร์ กาญจนกุล

วันศุกร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2553

ควรให้น้ำกุหลาบมากน้อยแค่ไหน?


กุหลาบเป็นพืชที่ต้องการความชื้นสูงแต่ไม่จำเป็นต้องลดน้ำทุกวัน การให้น้ำกุหลาบควรให้ตั้งแต่เช้า เพื่อน้ำจะถูกนำไปใช้และระเหยหมดไปในระหว่างวัน จะได้ไม่เกิดเชื้อแบคทีเรียที่มากับน้ำและที่สำคัญ ข้อควรระวังอย่ารดน้ำให้โดนใบเนื่องจากโรคบางโรคที่อยู่ตามใบหรือกิ่งอาจจะแพร่ระบาดกระจยไปได้โดยง่าย น้ำที่ใช้ควรเป็นน้ำที่สะอาดไม่เป็นกรดหรือด่าง มีค่า pH เท่ากับ 7 น้ำฝนหรือน้ำประปาก็สามารถรดได้เลย หากเป็นน้ำบาดาลควรพักน้ำทิ้งไว้ให้น้ำตกตะกอนเสียก่อน มิฉนั้นคราบสนิมที่ปะปนมากับน้ำบาดาลจะทำลายใบและดอกได้ และทำให้เกิดโรคตามมา

การให้น้ำกุหลาบในฤดูฝน
ต้องดูว่าฝนตกน้ำขังหรือไม่ หากน้ำขังต้องหาทางระบายออกอย่างรวดเร็ว เนื่องจากฤดูกาลนี้กุหลาบจะอ่อนแอต่อโรคบางโรค ฝนเป็นตัวช่วยในการระบาดมากยิ่งขึ้น นอกจากรากเน่าแล้ว จะเกิดโรคจากรากลุกลามต่อไปอีก หากฝนตกติดต่อกันก็ไม่ต้องรดน้ำก็ได้

การให้น้ำกุหลาบในฤดูแล้ง
ต้องระวังจุดน้ำขังให้มากๆ เพราะแดดแรง น้ำที่ขังอยู่จะกลายเป็นน้ำร้อน ทำให้กุหลาบเหียวเฉาในที่สุด (ควรเด็ดทิ้ง) กุหลาบในฤดูนี้จะอ่อนแอมีโรคมาก ดอกเล็ก ควรเอาใจใส่ให้ดี

ฤดูไหนล่ะที่กุหลาบเจริญเติบโตได้เร็ว ฤดูร้อนที่กุหลาบเหน็ดเหนื่อยกับแสงแดดแผดกล้าแล้วย่างเข้าฤดูฝน ความเย็นชุ่มฉ่ำจากสายน้ำทำให้กุหลาบแตกยอดอ่อนเจริญงดงามเป็นพุ่มกอได้ (ยอดอ่อนออกช่วงหน้าร้อน แดดมักเผาเสียหายยอดกุด) ช่วงราวเดือนพฤษพาคม-มิถุนายน ยิ่งก้าวเข้าหนาหนาวเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธุ์ ก็ยังเจริญเติบโตได้ดีอยู่

Tips
  • การให้น้ำกุหลาบอย่าลืมว่า ต้องให้น้ำในตอนเช้าอย่าเกิน 9 โมง และอย่างรดน้ำช่วงบายสามโมง (ดินกำลังร้อนพอเจอน้ำ น้ำนั้นอาจจะปรับสภาพเป็นน้ำร้อนได้)
  • ถ้าดินที่เราปลูกเป็นดินเหนียวก็อาจให้น้ำวันเว้นวันได้

บทความจากหนังสือกุหลาบราชินีแห่งดอกไม้
โดย อาจารย์เศรษฐมันตร์ กาญจนกุล

แสงแดดสำคัญต่อกุหลาบอย่างไร?


โดยธรรมชาติของต้นไม้ทุกชนิดต้องการแสงแดดในการสังเคราะห์อาหาร กุหลาบก็เช่นกันถึงจะเป็นไม้ดอกที่ชื่นชอบอากาศหนาวแต่แสงแดดก็เป็นปัจจัยสำคัญ กุหลาบควรได้รับแสงแดดอย่างน้อย 6 ชั่วโมง/วัน และปลูกในที่โล่งแจ้ง ไม่อยู่ใต้ร่มเงาต้นไม้ใหญ่ เพราะจะทำให้กุหลาบลำต้นแคะแกรน ออกดอกไม่สวยงาม ดอกโตไม่เต็มที่ ลมก็สำคัญ ลมแรงอย่างลมชายทะเลจะทำให้ก้านคอดอกที่อ่อนจะทานลมพัดไหวไปมาไม่ได้ ทำให้ก้านคอดอกและลำต้นกุหลาบหักเสียหาย

หากสังเกตุทิศทางลมก่อนปลูกก็จะดี แต่ห้ามอับลม หากเป็นมุมบ้าน แนะนำให้ปลูกทางทิศตะวันออก จะได้รับแสงแดดตอนเช้าได้เต็มที่กว่าตอนบ่าย (หากรับแสงแดดด้านเดียวจะเติบโตเพียงด้านเดียว กุหลาบจะไม่เป็นทรงพุ่มสวย) ทางที่ดีควรให้กุหลาบได้รับแสงแดดทั่วถึงทั้งวัน


บทความจากหนังสือกุหลาบราชินีแห่งดอกไม้
โดย อาจารย์เศรษฐมันตร์ กาญจนกุล

วันพฤหัสบดีที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2553

รอบรู้ก่อนปลูกกุหลาบ



กุหลาบเป็นพืชที่เจริญเติบโตได้ดีในที่ที่มีแสงแดดส่องถึงตลอดทั้งวัน หรืออย่างน้อย 6 ชั่วโมง/วัน กุหลาบต้องการอากาศที่ถ่ายเทได้ดี โปร่ง โล่ง หากเรียนรู้ก่อนปลูกแล้วอาจช่วยยืดอายุกุหลาบได้นาน กุหลาบถ้าเลี้ยงดีๆ อายุอาจนานเกิน 10 ปี ในต่างประเทศมีกุหลาบที่อายุถึง 100 ปี แต่ที่เลี้ยงกุหลาบแล้วตายมาจากหลายสาเหตุ ดินไม่ดี โรคระบาดไม่รักษา สภาพอากาศไม่เหมาะสม ฯลฯ ดังนั้นควรศึกษาไปตามลำดับ ดังนี้

ดินปลูกควรเลือกแบบไหนดี
ดินที่ดีควรมีคุณสมบัติดังนี้ ดินปลูกควรเป็นดินร่วน หรือ ดินร่วนปนทราย ระบายน้ำได้ดี ไม่ขังน้ำแฉะเอาไว้ มีธาตุอาหารที่อุดมสมบูรณ์ครบถ้วน ดินจะมีสีคล้ำไปจนถึงสีดำเข้ม ไม่เป็นกรด หรือ ด่าง มากจนเกินไป (ค่า pH ต่ำกว่า 7) แต่ถ้าหากดินเป็นกรด ควรแก้ไขโดยการใส่ปูนมาร์ล หรือ โดโลไมท์ แต่ถ้าดินมีสภาพเป็นด่างก็ควรแก้ไขโดยการใส่กำมะถันหรือปุ๋ยที่มีซัลเฟอร์ลงไป หากดินปลูกมีคุณภาพไม่ดีพอ ก็ควรเสริมด้วยปุ๋ยคอก แกลบดิบ ปุ๋หมัก ใบไม้ผุ ขุยมะพร้าว ขี้เถ้า ในอัตราส่วนที่เท่าๆกัน เพิ่มเติมด้วยปุ๋ยกระดูก และปุ๋ยยูเรียเล็กน้อย และปูนขาวเพื่อปรับสภาพดินให้พร้อมในการปลูกกุหลาบ

บทความจากหนังสือกุหลาบราชินีแห่งดอกไม้
โดย อาจารย์เศรษฐมันตร์ กาญจนกุล

วันพุธที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2553

กุหลาบตัดดอกขาย



กุหลาบตัดดอกขายนี่สำคัญมาก หากเราไปซื้อกุหลาบเป็นกำมาโดยไม่สังเกตให้ดี เมื่อถึงบ้านแล้วแกะห่อจัดแจกันกลีบดอกพากันร่วงกราว จะคืนก็ไม่ได้ ดังนั้นต้องเริ่มต้นจากการสังเกตในการเลือกซื้อก่อน ซึ่งผู้เขียนใช้วิธีสังเกตกุหลาบที่ซื้อมาดังนี้
  1. สังเกตจากสีของดอกกุหลาบและกลีบดอก มีรอยช้ำดำ ใบเหี่ยว
  2. ตำแหน่งที่วาง โดนแสงแดดมากเกินไป จะทำให้ดอกเหี่ยวง่ายซื้อไปปักแจกันได้ไม่นาน
  3. การเลือกซื้อดอกตูมให้ได้ดอกที่ตูมสวยงาม และปักแจกันได้นานโดยการใช้มือบีบที่ดอกตูมถ้าข้างในรู้สึกหยุ่นหรือนุ่มๆ นิดหน่อยแสดงว่าดอกตูมกำลังดี แต่ถ้าบีบดูแล้วยังแข็งอยู่ ไม่ควรซื้อเพราะดอกจะไม่บานอีกเลย สาเหตุเกิดจากการตัดดอกกุหลาบก่อนเวลาอันควร
กุหลาบตัดดอกที่ขายอยู่ตามท้องตลาดบ้านเรา ก็มีไม่กี่สายพันธุ์ ได้แก่ Blue Nile, Briggadoon, Heimut Schmidt, Ingrid Bergman, Midas Touch, Perfume Delight, Pink Peace, chicago Peace, Double Delight, Flaming Peace, First Prize เป็นต้น

บทความจากหนังสือกุหลาบราชินีแห่งดอกไม้
โดย อาจารย์เศรษฐมันตร์ กาญจนกุล

วันอาทิตย์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2553

สีสันแสนสวยของดอกกุหลาบ

สีของดอกกุหลาบนับเป็นลักษณะที่โดดเด่นเป็นอย่างมาก การปลูกกุหลาบสักต้น เรื่องง่ายๆ เลย คือปลูกเพื่อต้องการดูดอกกุหลาบที่เบ่งบานหากปลูกปลูกแล้วกุหลาบไม่ออกดอกให้ชื่นชม ผู้ปลูกก็จะกระวนกระวายใจ ดังนั้นก่อนซื้อมาปลูก หากเห็นดอกก่อนก็จะเป็นแรงจูงใจให้ผู้ปลูกเลี้ยงตัดสินใจที่จะเลือกกุหลาบสักต้นที่ตนชอบมาปลูก สีกุหลาบ จึงมีความสำคัญต่อการเลือกซื้อ ซึ่งการจำแนกสีกุหลาบพอแบ่งได้ 5 ประเภท ดังนี้
  1. ดอกสีเดียว (Single color)
  2. ดอกสองสี (Bi color)
  3. ดอกหลายสี (Multi color)
  4. ดอกสีเหลือบ (Blend color)
  5. ดอกมีแถบสีสลับในกลีบดอก (Stripped color)
บทความจากหนังสือกุหลาบราชินีแห่งดอกไม้
โดย อาจารย์เศรษฐมันตร์ กาญจนกุล