วันศุกร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2553

ได้เวลาตัดแต่งกิ่งกุหลาบแล้ว

(รูป กิ่งกระโดงของกุหลาบ)

กุหลาบเมื่อปลูกมาได้สักระยะ ก็เริ่มแตกกิ่งก้านสาขามากมาย ทำให้พุ้มใบดูรกและเกิดโรคตามมา จึงควรหมั่นตัดแต่งกิ่งอยู่เสมอ

การตัดแต่งกิ่งกุหลาบมีหลายวิธี แต่ละวิธีจะใช้หลักการที่คล้ายกัน คือตัดแต่งเพื่อคัดเลือกให้ได้กิ่งที่สมบูรณ์ (เพื่อการตัดดอก) และเพื่อให้ได้กิ่งกระโดง water sprout หรือ bottom break) มากขึ้น และจะรักษาใบไว้กับต้นให้มากที่สุด เพื่อให้ได้กิ่งที่สมบูรณ์ที่สุด ควรรักษาให้พุ้มกุหลาบโปร่งและไม่สูงมากเกินไปนัก เพื่อสะดวกต่อการดูแลรักษา และแสงที่กระทบโคนต้นกุหลาบจะช่วยกระตุ้นให้เกิดกิ่งกระโดงอีกด้วย การตัดแต่งกิ่งกุหลาบที่นิยมในปัจจุบันได้แก่การตัดแต่งกิ่งแบบ ตักสูงและต่ำ เพื่อให้มีการออกดอกสม่ำเสมอตลอดทั้งปี

สำหรับผู้ที่ปลูกกุหลาบแล้วมีดอกบานจนร่วงโรยไม่อยากตัดทิ้ง ให้ทำใจใหม่ หากเราตัดตรงช่อดอกที่ร่วงแล้วออก กุหลาบจะรีบแตกยอดออกดอกใหม่ให้ทันใจทีเดียว

บทความจากหนังสือกุหลาบราชินีแห่งดอกไม้
โดย อาจารย์เศรษฐมันตร์ กาญจนกุล

วันพฤหัสบดีที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2553

ถึงเวลาเปลี่ยนดินเพื่อเพิ่มธาตุอาหารให้กุหลาบแล้ว


การปลูกกุหลาบลงกระถาง เมื่อเวลาผ่านไปนาน กุหลาบได้นำเอาธาตุอาหารในดินไปใช้จนหมดที่เรียกว่า "ดินจืด" จึงไม่เพียงพอต่อกุหลาบ ดอกกุหลาบจึงเริ่มเล็กลง ใบเหลือง ออกดอกน้อย หรือเป็นเพราะรากกุหลาบได้เจริญเติบโตเต็มที่แล้ว จึงได้เวลาเปลี่ยนกระถางใหม่เสียที มี 3 แบบ ให้ลองทำดู

  1. แบบไม่เอาต้นออกจากกระถาง ใช้มีดหรือเสียมเล็กๆ แทงดินเป็นวงรอบต้นห่างจากขอบกระถางประมาณ 5 เซนติเมตร ควักเอาดินใหม่ใส่แทน อัดให้แน่นพอประมาณ รดน้ำให้ชุ่ม
  2. แบบเอาต้นออกจากกระถาง ถอดต้นพร้อมตุ้มดินออกจากกระถาง เอามีดตัดดินและรากเหลือเป็นตุ้ม เอาดินใหม่ใส่ก้นกระถาง โรยด้วยหินฟอสเฟต หรือขุยมะพร้าว แล้วเอาต้นที่ตุ้มดินลงปลูกในกระถาง
  3. แบบเอาต้นออกจากกระถาง-ล้างราก ถอนต้นกุหลาบออกจากกระถาง แกะดินออกจากรากให้หมด แล้วจุ่มน้ำล้างดินออก ตัดรากส่วนหนึ่งทิ้ง โดยเฉพาะรากที่ขมวด คดงอมากๆ ออก เหลือไว้ยาวประมาณ 10 เซนติเมตร เอาดินใหม่ใส่ก้นกระถางพูนเป็นโคก เอาดินวางคร่อมให้รากแผ่เหนือโคก ใส่ดินให้เต็มกระถางกุหลาบ
บทความจากหนังสือกุหลาบราชินีแห่งดอกไม้
โดย อาจารย์เศรษฐมันตร์ กาญจนกุล

วันพุธที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2553

ซื้อกุหลาบมาอยากเปลี่ยนกระถางทำอย่างไร ?


  1. ก่อนอื่นต้องเอาเครื่องปลูกออกจากถุงประมาณครึ่งหนึ่ง ระวังอย่าให้ดินที่ตุ้มรากหลุด ถ้าเป็นแกลบดิบต้องเอาแกลบออกก่อนส่วนหนึ่ง
  2. จากนั้นวางกุหลาบลงในกระถางเว้นระยะจากขอบกระถาง 1-2 นิ้ว และเอาดินปลูกใส่เข้าไป กลบเครื่องปลูกเดิมกดดินให้แน่นพอสมควร ให้ระดับเครื่องปลูกเดิมต่ำกว่าปากกระถางเล็กน้อย
  3. ใส่ขุยมะพร้าวหรือเปลือกถั่วกลบหน้าดิน รดน้ำให้ชุ่มแล้วตั้งกระถางกุหลาบให้ได้รับแสงแดดอย่างน้อยครึ่งวัน จะทำให้ต้นกุหลาบแข็งแรงขึ้น

บทความจากหนังสือกุหลาบราชินีแห่งดอกไม้
โดย อาจารย์เศรษฐมันตร์ กาญจนกุล

วันศุกร์ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2553

การปลูกกุหลาบลงกระถาง


การปลูกกุหลาบในกระถา่งมีข้อดีหลายอย่าง สะดวกในการเคลื่อยย้าย กะทัดรัด ไม่เปลืองเนื้อที่ สามารถนำไปวางไว้ตรงมุมที่ต้องการได้ในบางโอกาสนำเข้าไปตั้งประดับตกแต่งในอาคารก็ยังได้ เหมาะสำหรับผู้ปลูกที่มีพื้นที่จำกัด ข้อเสียคือต้องดูแลมากกว่าการปลูกกุหลาบลงดิน อย่างเช่นไม่อยู่บ้าน ลืมรดน้ำ 5-6 วัน ต้นไม้อาจน๊อกได้ หรือใส่ปุ๋ยเกินกำลังที่ดินมีก็กลายเป็นโทษ และต้นเจริญเต็มที่รากแน่นเกินไป ต้องขยายกระถางเป็นต้น


อย่าลืมว่ากุหลาบเป็นไม้ต้องการแสงแดดอย่างน้อยวันละ 6 ชั่วโมง หากจะยกกุหลาบมาวางโชว์ในบ้านละก็ ต้องหมั่นเอาออกแดดบ้าง และที่สำคัญอย่ารดน้ำจนชุ่มมากเกินไป เนื่องจากอัพแดดน้ำอาจขังรากเน่า (สังเกตใบเหลืองแล้วค่อยๆ ร่วงโรยจนหมด) โชว์จนดอกบานร่วงแล้วก็ตัดแต่งกิ่งนำไปวางไว้นอกอาคารตามเดิม

การเตรียมกระถาง จะเป็นกระถางพลาสติก หรือกระถางดินเผาก็ได้ ขนาดประมาณ 10-12 นิ้ว ใส่ดินที่ผสมไว้รองก้นกระถางก่อนที่จะนำกุหลาบลงกระถาง 1 ส่วน 4


บทความจากหนังสือกุหลาบราชินีแห่งดอกไม้
โดย อาจารย์เศรษฐมันตร์ กาญจนกุล

วันพุธที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2553

การปลูกกุหลาบลงดิน


การปลูกกุหลาบสักต้นหรือหลายๆ ต้น สิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงคือพื้นที่ที่จะปลูก หากไม่มีพื้นดินก็ต้องปลูกลงกระถาง กระถางก็ต้องเปลี่ยนให้ใหญ่ขึ้นเมื่อกุหลาบโตขึ้น ควรกะระกระถางกับพื้นที่ว่างในอนาคตไว้ด้วย หากมีพื้นที่ก็ปลูกลงดินได้เลย แต่อย่าปลูกชิดติดกันกับพรรณไม้อื่นๆ เพราะจะทำให้เบียดเสียด แย่งอาหารกันดีไม่ดีกุหลาบจะโทรมไม่ออกดอกให้เห็น การปลูกกุหลาบลงดินนั้นจะทำให้กุหลาบเจริญเติบโตได้อย่างเต็มที่รากของกุหลาบสามารถชอนไชหาอาหารได้อย่างอิสระ ซึ่งจะทำให้กุหลาบมีลักษณะลำต้นที่แข็งแรง ทรงพุ่มสวยงาม กุหลาบสามารถปลูกได้ทั้งในดินที่เป็นกรดหรือด่าง แต่เจริญเติบโตได้ดีในดินที่ค่อนข้างเป็นกรดเล็กน้อย คือมี pH ประมาณ 4.5-6.5 ถ้าดินเป็นกรดมากให้เติบปูนขาว 60-100 กิโลกรัมต่อ 100 ตารางวา แต่ถ้าดินเป็นด่างก็ใส่กำมะถันผง 20-50 กิโลกรัมต่อ 100 ตารางวา เมื่อเตรียมแปลงปลูกเรียบร้อยแล้ว ให้ขุดหลุมปลูกกว้างและลึก 30 x 30 เซนติเมตร (ถ้าเตรียมหลุมกว้างและลึกกว่านี้ก็จะเป็นการดียิ่งขึ้น) จากนั้นก็ใส่ปุ๋ยคอกรองก้นหลุม เช่น ขี้เป็ด ขี้ไก่ ขี้วัว ฯลฯ ประมาณหลุมละ 1 บุ้งกี๋ และใส่ปุ๋ยซุปเปอร์ฟอสเฟตหรือปุ๋ยกระดูกหลุมละ 1 กำมือ อีกครั้ง คลุกเคล้าให้เข้ากันแล้วจึงนำกิ่งพันธ์กุหลาบลงปลูก กลบดินที่โคนต้นให้แน่น รดน้ำให้ชุ่มและควรปลูกช่วงเย็นจะดีกว่าช่วงเช้า เพราะช่วงเช้าแสงแดดจะเริ่มแรงขึ้นกุหลาบอาจล้าได้ หากปลูกตอนเย็นกุหลาบกุหลาบอิ่มน้ำอากาศเย็นสบายมีเวลาเตรียมตัวได้นานกว่าก่อนถึงช่วงเช้าของอีกวัน

บทความจากหนังสือกุหลาบราชินีแห่งดอกไม้
โดย อาจารย์เศรษฐมันตร์ กาญจนกุล

วันจันทร์ที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2553

ควรใส่ปุ๋ยกุหลาบอย่างไรดี


การปลูกในระยะแรกจะเป็นช่วงที่ต้นกุหลาบกำลังเจริญเติบโตสร้างกิ่งและใบ จึงควรใส่ปุ๋ยเคมีที่มีสูตรตัวแรกสูงคือไนโตรเจนสูง ประมาณ 1 กำมือ / 15 วัน โดยประมาณ โรยปุ๋ยให้รอบๆ ต้นห่างจากโคนต้น 4-6 นิ้ว หากเป็นกุหลาบในกระถางควรโรยรอบขอบริมกระถาง จากนั้นก็รดน้ำตามใช้ชุ่ม เมื่อกุหลาบเริ่มให้ดอก ควรใส่ปุ๋ยเคมีที่มีฟอสฟอรัสและโพแทสเซียมสูงควบคู่กันไปเพื่อเร่งการออกดอก และทำให้ก้านดอกแข็งแรง

ข้อควรระวังในการใส่ปุ๋ย หลังจากปลูกแล้วควรโรยปุ๋ยให้กระจายรอบๆ ต้น อย่างสม่ำเสมออย่าใส่กระจุกที่จุดใดจุดหนึ่งเพราะอาจทำให้เกิดการเสียหายต่อต้นกุหลาบได้ เนื่องจากมีความเข้มข้นของปุ๋ยตรงจุดที่ใส่มากเกินไป การให้ปุ๋ยกุหลาบควรให้ทุกๆ 7 วัน

บทความจากหนังสือกุหลาบราชินีแห่งดอกไม้
โดย อาจารย์เศรษฐมันตร์ กาญจนกุล

ปุ๋ยชีวภาพจำเป็นหรือไม่สำหรับกุหลาบ


สำหรับปุ๋ยชีวภาพ (Biofertilizer) กำลังเป็นที่นิยมมากเพราะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและปรัยดต้นทุนให้กับผู้ปลูกกุหลาบได้ 5-10 เท่า ปุ๋ยชีวถาพช่วยเพิ่มธาตุอาหารให้แก่ดิน กระตุ้นการเจริญเติบโตของพืชได้ดี

บทความจากหนังสือกุหลาบราชินีแห่งดอกไม้
โดย อาจารย์เศรษฐมันตร์ กาญจนกุล

วันอาทิตย์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2553

เลือกปุ๋ยแบบไหนดีสำหรับกุหลาบ


โดยทั่วไปปุ๋ยแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ ปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยวิทยาศาสตร์

ปุ๋ยอินทรีย์ ได้แก่ ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด และเศษอาหารจากครัวเรือนก็นำมาหมักเป็นปุ๋ยได้

ประโยชน์ของปุ๋ยคอก...มีอะไรบ้าง ปุ๋ยคอกได้แก่ ขี้หมู ขี้เป็ด ขี้ไก่ ขี้วัว ฯลฯ นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายเพราะหาได้ง่ายตามท้องถิ่น หากอยู่ในเขตกรุงเทพฯ ก็มีปุ๋ยคอกแบบสำเร็จจำหน่ายอยู่มาก ปุ๋ยคอกช่วยปรับปรุงดินให้โปร่งและร่วนซุย ทำให้การเตรียมดินง่ายขึ้น กล้าไม้มีการเจริญเติบโตเร็ว การปลูกกุหลาบก็จำเป็นต้องใส่ปุ๋ยคอก 1 ส่วนในเครื่องปลูก เพื่อช่วยปรับปรุงโครงสร้างของดินให้เหมาะสมต่อการเจริญเติมโตของกุหลาบ ช่วยให้ดินมีการระบายน้ำและอากาศที่ดีขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งธาตุอาหารของจึลินทรีที่เป็นประโยชน์ในดิน ที่สำคัญยังเป็นมิตรกับธรรมชาติอีกด้วย

ปุ๋ยคอกมีส่วนช่วยในการเพิ่มความโปร่งและให้ธาตุอาหารในดินก็จริง แต่ก่อนใช้ต้องนำมาตากทิ้งไว้ให้ผ่านการย่อยสลาย คลายความร้อนลงก่อน ยิ่งเป็นปุ๋ยขี้ไก่จะเข้มข้นแล้วเค็มมากจะเป็นอันตรายต่อระบบรากควรใส่แต่น้อย หรือผสมดินคลุกเคล้า 1 ต่อ 30 ตากทิ้งไว้ก่อนใช้ก็จะดี หาดใส่ปุ๋ยกระดูกป่นเสริมลงไปบ้างจะเติบโตได้มากขึ้น

ปุ๋ยคอกจะมีเมล็ดวัชพืชติดมาด้วย หากวัชพืชงอกขึ้นมาก็ให้หมั่นถอนทิ้ง เพราะจะแย่งสารอาหารที่สำคัญไปหมด

ก่อนใส่ปุ๋ย สังเกตดูหน้าดินแข็งก็พรวนดินหน้าดินก่อน โดยใช้เหล็กปลายแหลมพรวนเบาๆ และอย่าให้ลึกมากเพราะจะทำให้รากขาด หากเลี้ยงไปสักพักดินแข็งมากก็ให้เปลี่ยนดินเสียใหม่

ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ ได้มากจากการผลิตหรือสังเคราะห์จากแร่ธาตุต่างๆที่ได้ตามธรรมชาติ ปุ๋ยวิทยาศาสตร์มีอยู่สองประเภท คือ แม่ปุ๋ยหรือปุ๋ยเดี่ยว และปุ๋ยผสม
  • ปุ๋ยเดี่ยวหรือแม่ปุ๋ย ได้แก่ ปุ๋ยพวกแอมโมเนี่ยมซัลเฟต โพแทสเซียมคลอไรด์ ฯลฯ ซึ่งมีธาตุอาหารหลัก คือ ไนโตรเจน (N) ฟอสฟอรัส (P) และโพแทสเซียม (K) เป็นองค์ประกอบอยู่ด้วยหนึ่งหรือสองธาตุด้วยกัน
  • ปุ๋ยผสม คือ ปุ๋ยที่มีการนำเอาแม่ปุ๋ยหลายๆ ชนิดมาผสมรวมกันเพื่อให้ปุ๋ยที่ผสมได้มีปริมาณและสัดส่วนของธาตุอาหาร N,P และ K ตามที่ต้องการ
บทความจากหนังสือกุหลาบราชินีแห่งดอกไม้
โดย อาจารย์เศรษฐมันตร์ กาญจนกุล

วันศุกร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2553

ควรให้น้ำกุหลาบมากน้อยแค่ไหน?


กุหลาบเป็นพืชที่ต้องการความชื้นสูงแต่ไม่จำเป็นต้องลดน้ำทุกวัน การให้น้ำกุหลาบควรให้ตั้งแต่เช้า เพื่อน้ำจะถูกนำไปใช้และระเหยหมดไปในระหว่างวัน จะได้ไม่เกิดเชื้อแบคทีเรียที่มากับน้ำและที่สำคัญ ข้อควรระวังอย่ารดน้ำให้โดนใบเนื่องจากโรคบางโรคที่อยู่ตามใบหรือกิ่งอาจจะแพร่ระบาดกระจยไปได้โดยง่าย น้ำที่ใช้ควรเป็นน้ำที่สะอาดไม่เป็นกรดหรือด่าง มีค่า pH เท่ากับ 7 น้ำฝนหรือน้ำประปาก็สามารถรดได้เลย หากเป็นน้ำบาดาลควรพักน้ำทิ้งไว้ให้น้ำตกตะกอนเสียก่อน มิฉนั้นคราบสนิมที่ปะปนมากับน้ำบาดาลจะทำลายใบและดอกได้ และทำให้เกิดโรคตามมา

การให้น้ำกุหลาบในฤดูฝน
ต้องดูว่าฝนตกน้ำขังหรือไม่ หากน้ำขังต้องหาทางระบายออกอย่างรวดเร็ว เนื่องจากฤดูกาลนี้กุหลาบจะอ่อนแอต่อโรคบางโรค ฝนเป็นตัวช่วยในการระบาดมากยิ่งขึ้น นอกจากรากเน่าแล้ว จะเกิดโรคจากรากลุกลามต่อไปอีก หากฝนตกติดต่อกันก็ไม่ต้องรดน้ำก็ได้

การให้น้ำกุหลาบในฤดูแล้ง
ต้องระวังจุดน้ำขังให้มากๆ เพราะแดดแรง น้ำที่ขังอยู่จะกลายเป็นน้ำร้อน ทำให้กุหลาบเหียวเฉาในที่สุด (ควรเด็ดทิ้ง) กุหลาบในฤดูนี้จะอ่อนแอมีโรคมาก ดอกเล็ก ควรเอาใจใส่ให้ดี

ฤดูไหนล่ะที่กุหลาบเจริญเติบโตได้เร็ว ฤดูร้อนที่กุหลาบเหน็ดเหนื่อยกับแสงแดดแผดกล้าแล้วย่างเข้าฤดูฝน ความเย็นชุ่มฉ่ำจากสายน้ำทำให้กุหลาบแตกยอดอ่อนเจริญงดงามเป็นพุ่มกอได้ (ยอดอ่อนออกช่วงหน้าร้อน แดดมักเผาเสียหายยอดกุด) ช่วงราวเดือนพฤษพาคม-มิถุนายน ยิ่งก้าวเข้าหนาหนาวเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธุ์ ก็ยังเจริญเติบโตได้ดีอยู่

Tips
  • การให้น้ำกุหลาบอย่าลืมว่า ต้องให้น้ำในตอนเช้าอย่าเกิน 9 โมง และอย่างรดน้ำช่วงบายสามโมง (ดินกำลังร้อนพอเจอน้ำ น้ำนั้นอาจจะปรับสภาพเป็นน้ำร้อนได้)
  • ถ้าดินที่เราปลูกเป็นดินเหนียวก็อาจให้น้ำวันเว้นวันได้

บทความจากหนังสือกุหลาบราชินีแห่งดอกไม้
โดย อาจารย์เศรษฐมันตร์ กาญจนกุล

แสงแดดสำคัญต่อกุหลาบอย่างไร?


โดยธรรมชาติของต้นไม้ทุกชนิดต้องการแสงแดดในการสังเคราะห์อาหาร กุหลาบก็เช่นกันถึงจะเป็นไม้ดอกที่ชื่นชอบอากาศหนาวแต่แสงแดดก็เป็นปัจจัยสำคัญ กุหลาบควรได้รับแสงแดดอย่างน้อย 6 ชั่วโมง/วัน และปลูกในที่โล่งแจ้ง ไม่อยู่ใต้ร่มเงาต้นไม้ใหญ่ เพราะจะทำให้กุหลาบลำต้นแคะแกรน ออกดอกไม่สวยงาม ดอกโตไม่เต็มที่ ลมก็สำคัญ ลมแรงอย่างลมชายทะเลจะทำให้ก้านคอดอกที่อ่อนจะทานลมพัดไหวไปมาไม่ได้ ทำให้ก้านคอดอกและลำต้นกุหลาบหักเสียหาย

หากสังเกตุทิศทางลมก่อนปลูกก็จะดี แต่ห้ามอับลม หากเป็นมุมบ้าน แนะนำให้ปลูกทางทิศตะวันออก จะได้รับแสงแดดตอนเช้าได้เต็มที่กว่าตอนบ่าย (หากรับแสงแดดด้านเดียวจะเติบโตเพียงด้านเดียว กุหลาบจะไม่เป็นทรงพุ่มสวย) ทางที่ดีควรให้กุหลาบได้รับแสงแดดทั่วถึงทั้งวัน


บทความจากหนังสือกุหลาบราชินีแห่งดอกไม้
โดย อาจารย์เศรษฐมันตร์ กาญจนกุล

วันพฤหัสบดีที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2553

รอบรู้ก่อนปลูกกุหลาบ



กุหลาบเป็นพืชที่เจริญเติบโตได้ดีในที่ที่มีแสงแดดส่องถึงตลอดทั้งวัน หรืออย่างน้อย 6 ชั่วโมง/วัน กุหลาบต้องการอากาศที่ถ่ายเทได้ดี โปร่ง โล่ง หากเรียนรู้ก่อนปลูกแล้วอาจช่วยยืดอายุกุหลาบได้นาน กุหลาบถ้าเลี้ยงดีๆ อายุอาจนานเกิน 10 ปี ในต่างประเทศมีกุหลาบที่อายุถึง 100 ปี แต่ที่เลี้ยงกุหลาบแล้วตายมาจากหลายสาเหตุ ดินไม่ดี โรคระบาดไม่รักษา สภาพอากาศไม่เหมาะสม ฯลฯ ดังนั้นควรศึกษาไปตามลำดับ ดังนี้

ดินปลูกควรเลือกแบบไหนดี
ดินที่ดีควรมีคุณสมบัติดังนี้ ดินปลูกควรเป็นดินร่วน หรือ ดินร่วนปนทราย ระบายน้ำได้ดี ไม่ขังน้ำแฉะเอาไว้ มีธาตุอาหารที่อุดมสมบูรณ์ครบถ้วน ดินจะมีสีคล้ำไปจนถึงสีดำเข้ม ไม่เป็นกรด หรือ ด่าง มากจนเกินไป (ค่า pH ต่ำกว่า 7) แต่ถ้าหากดินเป็นกรด ควรแก้ไขโดยการใส่ปูนมาร์ล หรือ โดโลไมท์ แต่ถ้าดินมีสภาพเป็นด่างก็ควรแก้ไขโดยการใส่กำมะถันหรือปุ๋ยที่มีซัลเฟอร์ลงไป หากดินปลูกมีคุณภาพไม่ดีพอ ก็ควรเสริมด้วยปุ๋ยคอก แกลบดิบ ปุ๋หมัก ใบไม้ผุ ขุยมะพร้าว ขี้เถ้า ในอัตราส่วนที่เท่าๆกัน เพิ่มเติมด้วยปุ๋ยกระดูก และปุ๋ยยูเรียเล็กน้อย และปูนขาวเพื่อปรับสภาพดินให้พร้อมในการปลูกกุหลาบ

บทความจากหนังสือกุหลาบราชินีแห่งดอกไม้
โดย อาจารย์เศรษฐมันตร์ กาญจนกุล