วันพุธที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2553

กุหลาบตัดดอกขาย



กุหลาบตัดดอกขายนี่สำคัญมาก หากเราไปซื้อกุหลาบเป็นกำมาโดยไม่สังเกตให้ดี เมื่อถึงบ้านแล้วแกะห่อจัดแจกันกลีบดอกพากันร่วงกราว จะคืนก็ไม่ได้ ดังนั้นต้องเริ่มต้นจากการสังเกตในการเลือกซื้อก่อน ซึ่งผู้เขียนใช้วิธีสังเกตกุหลาบที่ซื้อมาดังนี้
  1. สังเกตจากสีของดอกกุหลาบและกลีบดอก มีรอยช้ำดำ ใบเหี่ยว
  2. ตำแหน่งที่วาง โดนแสงแดดมากเกินไป จะทำให้ดอกเหี่ยวง่ายซื้อไปปักแจกันได้ไม่นาน
  3. การเลือกซื้อดอกตูมให้ได้ดอกที่ตูมสวยงาม และปักแจกันได้นานโดยการใช้มือบีบที่ดอกตูมถ้าข้างในรู้สึกหยุ่นหรือนุ่มๆ นิดหน่อยแสดงว่าดอกตูมกำลังดี แต่ถ้าบีบดูแล้วยังแข็งอยู่ ไม่ควรซื้อเพราะดอกจะไม่บานอีกเลย สาเหตุเกิดจากการตัดดอกกุหลาบก่อนเวลาอันควร
กุหลาบตัดดอกที่ขายอยู่ตามท้องตลาดบ้านเรา ก็มีไม่กี่สายพันธุ์ ได้แก่ Blue Nile, Briggadoon, Heimut Schmidt, Ingrid Bergman, Midas Touch, Perfume Delight, Pink Peace, chicago Peace, Double Delight, Flaming Peace, First Prize เป็นต้น

บทความจากหนังสือกุหลาบราชินีแห่งดอกไม้
โดย อาจารย์เศรษฐมันตร์ กาญจนกุล

วันอาทิตย์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2553

สีสันแสนสวยของดอกกุหลาบ

สีของดอกกุหลาบนับเป็นลักษณะที่โดดเด่นเป็นอย่างมาก การปลูกกุหลาบสักต้น เรื่องง่ายๆ เลย คือปลูกเพื่อต้องการดูดอกกุหลาบที่เบ่งบานหากปลูกปลูกแล้วกุหลาบไม่ออกดอกให้ชื่นชม ผู้ปลูกก็จะกระวนกระวายใจ ดังนั้นก่อนซื้อมาปลูก หากเห็นดอกก่อนก็จะเป็นแรงจูงใจให้ผู้ปลูกเลี้ยงตัดสินใจที่จะเลือกกุหลาบสักต้นที่ตนชอบมาปลูก สีกุหลาบ จึงมีความสำคัญต่อการเลือกซื้อ ซึ่งการจำแนกสีกุหลาบพอแบ่งได้ 5 ประเภท ดังนี้
  1. ดอกสีเดียว (Single color)
  2. ดอกสองสี (Bi color)
  3. ดอกหลายสี (Multi color)
  4. ดอกสีเหลือบ (Blend color)
  5. ดอกมีแถบสีสลับในกลีบดอก (Stripped color)
บทความจากหนังสือกุหลาบราชินีแห่งดอกไม้
โดย อาจารย์เศรษฐมันตร์ กาญจนกุล

วันศุกร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2553

กุหลาบป่า (Wild Rose)


เป็นตอสำหรับติดตากุหลาบพันธุ์ดีที่ต้องการขยายพันธุ์ กุหลาบป่าจะไม่ค่อยออกดอก หรือออกดอกน้อย ในบ้านเรากิ่งพันธุ์กุหลาบป่าจะได้มาจากทางเชียงใหม่ โดยมากมักขายกิ่งพันธุ์สั้นๆ สูงประมาณ 1 ฟุต เพื่อให้ผู้เพาะเลี้ยงมาติดตากุหลาบพันธุ์ดี ต้นกุหลาบป่าต้นหนึ่งราคาประมาณ 2-5 บาท ส่วนกุหลาบป่าที่ปลูกเป็นไม้ประดับก็มี เช่น กุหลาบรูโกซ่า (Rugose)

บทความจากหนังสือกุหลาบราชินีแห่งดอกไม้
โดย อาจารย์เศรษฐมันตร์ กาญจนกุล

กุหลาบประดับสวน (Garden Rose หรือ Garden Variety)


นิยมปลูกกันโดยทั่วๆ ไป แต่ไม่ใช่กุหลาบตัดดอก กุหลาบชนิดนี้ดอกจะบานเร็วและโรยเร็ว สีสันดอกมีความหลากหลายกว่ากุหลาบตัดดอก รวมถึงความหอมและความยากง่ายในการปลูกเลี้ยง จึงเป็นที่นิยมปลูกเป็นงานอดิเรก และปลูกประดับสถานที่

บทความจากหนังสือกุหลาบราชินีแห่งดอกไม้
โดย อาจารย์เศรษฐมันตร์ กาญจนกุล

กุหลาบหนู (Miniatures)


ลำต้น ใบ ดอก มีขนาดเล็ก เกิดจากการผสมระหว่างสายพันธุ์ "โพลิแอนธา" กับ "ฟลอริบันดา" และกุหลาบป่า เหมาะที่จะปลูกเป็นไม้ประดับ ปลูกในกระถาง เช่น สายพันธุ์โรสมาริน ดรีมโกว์ สตารีน่า เป็นต้น

บทความจากหนังสือกุหลาบราชินีแห่งดอกไม้
โดย อาจารย์เศรษฐมันตร์ กาญจนกุล

วันอาทิตย์ที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2553

กุหลาบพวง (Floribundas)



ทรงพุ่มกระทัดรัด ลำต้นเตี้ย ออกดอกเป็นช่อ ออกดอกพร้อมกันครั้งละหลายๆ ช่อ ดอกบานพร้อมกัน ขนาดดอกเล็กลงกว่ากุหลาบดอกเดี่ยว มีดอกย่อย 5-10 ดอก/ช่อ เป็นการผสมพันธุ์ระหว่าง ไฮบริดที กับโพลิแอนธา ซึ่งมีอยู่ 2 ชนิด คือ
  • กุหลาบพวงก้านสั้น ลำต้นเตี้ย เช่น พันธุ์ซัมเมอร์สโนว์ วาเลนไทน์ เป็นต้น
  • กุหลาบพวงก้านยาว ลำต้นสูงปานกลาง สามารถปลูกเป็นไม้ประดับ และไม้ตัดดอก เช่น พันธุ์ยูโรปา เบลินดา เป็นต้น
บทความจากหนังสือกุหลาบราชินีแห่งดอกไม้
โดย อาจารย์เศรษฐมันตร์ กาญจนกุล

กุหลาบพวงดอกใหญ่ (Gradndifloras)



ลำต้นและก้านดอกยาว คล้ายกันกับกุหลาบ "ไฮบริดที" เกิดจากการผสมกันระหว่าง กุหลาบ "ไฮบริดที" กับกุหลาบ "ฟลอริบันดา" เหมาะสำหรับการปลูกเป็นไม้ประดับ หรือไม้ตัดดอก เช่น สายพันธุ์โซเนีย ควีนเอลิซาเบธ เป็นต้น

บทความจากหนังสือกุหลาบราชินีแห่งดอกไม้
โดย อาจารย์เศรษฐมันตร์ กาญจนกุล

วันเสาร์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2553

กุหลาบเลื้อย (Climbers Rambler)

ลำต้นสูงตรง เลื้อยพันกับสิ่งต่างๆ ดอกมีหลายขนาด เช่น พันธุ์ดอกจาน ค็อกเทล เอนเจลา คอมพาซชั่น เป็นต้น กุหลาบเลื้อยมีทั้งเลื้อยโดยสายพันธุ์แท้ และกุหลาบเลื้อยจากการกลายพันธุ์ เช่น สายพันธุ์ปาร์เตน็องเลื้อย วาเลนไทน์เลื้อย

บทความจากหนังสือกุหลาบราชินีแห่งดอกไม้
โดย อาจารย์เศรษฐมันตร์ กาญจนกุล

วันศุกร์ที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2553

กุหลาบดอกเดี่ยว (Hybrid Teas)



ลำต้นสูง 1-2 เมตร กิ่งยาวออกดอกเดี่ยวอาจมีกลีบดอกมากถึง 50 กลีบ เป็นกุหลาบลูกผสมระหว่างกุหลาบ ไฮบริดเพอร์เพทชวลกับกุหลาบใบชาจากประเทศจีน ดอกมีกลิ่นหอม รูปทรงสวยงาม หลากสี ต้นโตแข็งแรง เลี้ยงง่าย ออกดอกสม่ำเสมอ ทนต่อโรคและแมลงได้ดีจึงเป็นที่นิยมกันมาก หรืออาจปลูกเป็นกุหลาบตัดดอก เช่น พันธุ์เรดมาสเตอร์พีช พันธุ์แกรนด์มาสเตอร์พีช พันธุ์เฮสมุดสมิดท์ พันธุ์แซนดรา พันธุ์เฟิร์สไพรซ์ พันธุ์ซูซานแฮมเชียร์ พันธุ์ไวท์คริสต์มาส พันธุ์ดับเบิ้ลดีไลท์ ฯลฯ

บทความจากหนังสือกุหลาบราชินีแห่งดอกไม้
โดย อาจารย์เศรษฐมันตร์ กาญจนกุล

วันพฤหัสบดีที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2553

กุหลาบที่นิยมปลูกกันทั่วไป




กุหลาบที่นิยมปลูกโดยทั่วไป สามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ
  • กุหลาบสมัยเก่า Old garden rose
  • กุหลาบสมัยใหม่ Modern rose
กุหลาบที่ปลูกกันอยู่ในบ้านเรา เรียกโดยรวมว่า "กุหลาบรุ่นใหม่ Modern rose" ไม่ว่าจะเป็นกุหลาบตัดดอก cut-rose หรือกุหลาบประดับสวน garden-rose จะมีหลากหลายสายพันธุ์ มี "กุหลาบรุ่นเก่า Ole garden rose" ปะปนอยู่บ้างก็ไม่มาก เช่นกุหลาบมอญ กุหลาบจุฬาลงกรณ์ และกุหลาบอังกฤษ (English Rose) เป็นต้น

ซึ่งกุหลาบที่นิยมปลูกในบ้านเรา จะแบ่งออกได้อีก 7 ประเภท คือ
บทความจากหนังสือกุหลาบราชินีแห่งดอกไม้
โดย อาจารย์เศรษฐมันตร์ กาญจนกุล

วันพุธที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2553

ซื้อกุหลาบควรสังเกตอยางไร


นี่ก็เป็นคำถามยอดฮิตเสมอที่เรามักจะได้ยิน การเลือกปลูกต้นไม้สักต้นเป็นเรื่องที่ไม่ยากและก็เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลยเช่นกัน เพราะโดยส่วนใหญ่แล้วหลังปลูกไม่นานต้นกุหลาบก็จะโทรมและตายไปภายในไม่ช้า หากแต่ก่อนซื้อต้นกุหลาบมาปลูกควรศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับกุหลาบสักเล็กน้อยดังข้อมูลข้างล่างนี้ เป็นข้อมูลจาก "สวนรักมิตร" จ.นครราชสีมา

ในการดูว่ากุหลาบต้นไหนสมบูรณ์ไม่สมบูรณ์ให้ดูที่ใบ ต้นไหนที่ใบใหญ่ ใบกว้าง ไม่คุ้มงอ เขียวสดใสไม่มีร่องรอยของโรค นั่นแสดงว่าต้นกุหลาบต้นนั้น คือต้นที่สมบูรณ์

การเลือกตัดดอกกุหลาบก็เช่นกัน เลือกว่าดอกไหนสมควรตัดได้ตัดไปแล้วดอกสามารถบานได้อีกมีวิธีง่ายๆ โดยการใช้มือบีบที่ดอกตูม ถ้าข้างในรู้สึกหยุ่นหรือนุ่มๆ นิดหน่อยแสดงว่าตัดได้ แต่ถ้าบีบดูแล้วยังแข็งอยู่ก็ยังไม่ควรตัด ถ้าตัดไปแล้วก็จะทำให้ดอกกุหลาบไม่สามารถบานได้อีก แต่อีกอย่างที่สำคัญสำหรับผู้ปลูกกุหลาบก็คือ ต้องรักที่จะปลูกและให้การดูแลรักษาเอาใจใส่ และคิดเสมอว่า ในการปลูกกุหลาบนั้นเราก็เหมือนเป็นหมอ เมื่อกุหลาบผิดปกติเราก็สามารถวินิจฉัยได้ว่ามาจากสาเหตุอะไร และสามารถจัดยาให้ได้ถูกกับโรคด้วย

บทความจากหนังสือกุหลาบราชินีแห่งดอกไม้
โดย อาจารย์เศรษฐมันตร์ กาญจนกุล

วันพุธที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2553

ลักษณะเด่นของกุหลาบ


ชื่อสามัญ : Rose
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Rosa spp.
วงศ์ : ROSACEAE

ไม้พุ่มขนาดเล็กบางชนิดมีขนาดใหญ่หรือเป็นไม้เลื้อย ไม้ผลัดใบ มีถิ่นกำเนิดในเอเซียประมาณ 95 ชนิด ในอเมริกา 18 ชนิด ส่วนที่เหลือมีถิ่นกำเนิดในยุโรปหรือตะวันตกเฉ๊ยงเหนือของแอฟริกา รวมแล้วก็ประมาณ 125 ชนิด กระจายสายพันธุ์อยู่ทั่วไป โดยเฉพาะทางซีกโลกเหนือ ตั้งแต่อลาสก้า ไซบีเรีย เม็กซิโก อินเดียตอนใต้ ไปจนถึงเอธิโอเปีย กุหลาบเป็นที่รู้จักกันทั่วไป ลำต้นมีหนามแหลมปกคลุม รูปทรงของดอกสวยงามสัสันสะดุดตา ดอกมีกลิ่นหอม จะผลัดใบในช่วงฤดูหนาว ลักษณะของกุหลาบทั้งต้นมีดังนี้


ใบ ใบประกอบแบบขนนก มีใบย่อย 5-9 ใบ รูปรีแกมรูปไข่ออกสลับ ขอบใบจักฟันเลื่อยเล็กๆ รอบขอบใบ ปลายใบแหลม ใบอ่อนสีแดงระเรื่อ เมื่อแก่ใบเปลี่ยนสีเป็นสีเขียวผิวเป็นมัน

ดอก ออกดอกเดี่ยว หรือออกดอกเป็นช่อ ที่ปลายยอดอ่อน ลักษณะกลีบดอกและสีสันจะมีมากมายหลายแบบ ซึ่งสามารถแบ่งลักษณะของกลีบดอกได้อีก 3 ชนิด คือ กลีบดอกชั้นเดียว จะมี 5 กลีบ หรือบางชนิดมีเพียง 4 กลีบ ดอกกึ่งซ้อนมี 6-20 กลีบ กลีบดอกซ้อนมีตั้งแต่ 20 กลีบขึ้นไปจนถึง 60 กลีบ และส่วนของกลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ สีเขียวหรือสีเขียวอมแดงระเรื่อ เกสรเพศผู้มีจำนวนมากสีเหลืองหรือสีเหลืองอมส้ม และเกสรเพศเมียมีเพียง 1 อัน

ผล ผลแบบ (hip) เป็นผลกลุ่มค่อนข้างกลมหรือกลมแป้นอยู่บนฐานรองดอก ภายในมีเมล็ดหลายสิบเมล็ด ผลสุกสีส้ม แดง น้ำตาล ผิวมัน ผลแก่แห้ง เมล็ดล่อน (achene) สามารถนำไปเพาะขยายพันธุ์ได้

บทความจากหนังสือกุหลาบราชินีแห่งดอกไม้
โดย อาจารย์เศรษฐมันตร์ กาญจนกุล

เรียงร้อย....ร้อยมาลัย



กุหลาบนอกจากปลูกเป็นไม้ประดับให้กลิ่นหอมแล้วยังมีประโยชน์อย่างอื่นอีกมากมาย โดยเฉพาะการนำมาร้อยมาลัย กุหลาบที่นิยมนำมาร้อยมาลัยดอกมีสีส้มสด พันธุ์ Fusilier เป็นกุหลาบพวง กลีบดอกซ้อนแข็งและหนา นิยมนำมาร้อยมาลัยกับดอกไม้ชนิดอื่น ไว้บูชาพระ และสำหรับงานพิธีมงคลต่างๆ

บทความจากหนังสือกุหลาบราชินีแห่งดอกไม้
โดย อาจารย์เศรษฐมันตร์ กาญจนกุล

วันพุธที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2553

น้ำหอมกลิ่นกุหลาบ


คงไม่มีใครปฏิเสธถึงกลิ่นหอมของกุหลาบได้ จึงได้มีการนำกุหลาบมาสกัดเป็นน้ำหอม ให้กลิ่นหอมที่มีเสน่ห์น่าหลงใหล พันธุ์กุหลาบที่ใช้ได้แก่ กุหลาบพันธุ์ดามัสก์ (Damask Rose : R.dama-scena) กุหลาบอัลบา (Rose alba) และกุหลาบปูโต (Puteaux Rose : R.bifera var.) ซึ่งบ้านเรายังมีปลูกกุหลาบสายพันธุ์เหล่านี้อยู่ แต่เป็นกุหลาบลูกผสมสายพันธุ์ดามัสก์ เช่น กุหลาบมอญ Rosa damascena ที่เรารู้จักกันดี กุหลาบชนิดนี้ แรกเริ่มนำมาจากเมืองมอญ และเป็นดอกไม้ที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงโปรด พระองค์ท่านได้นำกลับมาหลังจากเสร็จสงครามที่เมืองมอญ พระยาวินิจ วนันดร ได้กล่าวไว้ในหนังสือไม้ประดับของไทย กุหลาบมอญเป็ฯที่รู้จักกันมานานและนิยมปลูกกันอย่างแพร่หลายมาจนถึงยุคที่มีการนำเข้ากุหลาบลูกผสมจากยุโรป กุหลาบพันธุ์นี้ก็ได้เลือนหายไปบ้าง แต่ยังคงมีหลงเหลืออยู่ในหมู่นักอนุรักษ์บ้าง ในปัจจุบันกลับมานิยมกันอีกครั้งเนื่องจากความงามของสีดอกชมพูแกมม่วงอ่อน มีกลิ่นหอมชื่นใจ ให้ดอกดกในช่วงฤดูร้อนถึงแม้จะเป็นไม้พุ่มกึ่งเลื้อย ก็ยังเป็นที่นิยม เราใช้กลีบกุหลาบแต่งหน้าขนมประเภทตะโก้ หรือนำมาลอยน้ำดื่ม ก็ให้กลิ่นหอมชื่นใจ

ประโยชน์ของกุหลาบอีกอย่างหนึ่งคือ ใช้ประดับตกแต่ง งานแต่งงาน เจ้าบ่าว เจ้าสาว นิยมนำดอกกุหลาบมาประดับมากกว่าดอกไม้ชนิดอื่นๆ เนื่องจากเป็นตัวแทนแห่งภาษารักแล้วยังมีความหอมละมุนอบอวนไปทั้งงานอีกด้วย

บทความจากหนังสือกุหลาบราชินีแห่งดอกไม้
โดย อาจารย์เศรษฐมันตร์ กาญจนกุล

วันอังคารที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2553

เรื่องเล่า.....ตำนานกุหลาบตอน 2


ณ ปัจจุบันกุหลาบยังเป็นไม้ดอกเศษรฐกิจสร้างรายได้ให้กับคนทั้งโลก ยิ่งเป็นประเทศที่มีภูมิอากาศเหมาะสมอย่างเช่น เยอรมัน สเปน อิสราเอล อิตาลี เนเธอร์แลนด์ โคลอมเบีย สหรัฐอเมริกา เบลเยี่ยม เคนยา ฝรั่งเศส ซิมบับเว แทนซาเนีย เอกวาดอร์ ประเทศเหล่านี้ปลูกเป็นไม้ส่งออกที่มีสายพันธุ์ที่ดี หลายๆ สายพันธุ์ บางสายพันธุ์ในบ้านเรานำมาปลูกบ้างเหมือนกัน

ภูมิอากาศทำให้ดอกใหญ่ไม่เต็มที่เท่าบ้านเขา แต่หากจะดูสายพันธุ์กุหลาบดอกใหญ่ๆ แนะนำให้ไปดูที่ตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ที่จังหวัดเชียงใหม่ในฤดูหนาว ดอกกุหลาบดอกจะใหญ่มาก

มีเรื่องเล่าสู๋กันฟัง คือเมื่อเดือนสิงหาคม 2550 มีการประกวดพันธุ์ไม้หลายชนิดที่สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ติดกับพิพิธภัณฑ์เด็ก ดอกกุหลาบพันธุ์ควีนสิริกิติ์ ซึ่งเล็กมากเมื่อเทียบกับทางเชียงใหม่ ดอกห่างกัน 5 เท่า เจ้าหน้าที่บอกว่าเป็นเพราะฤดูกาล และอากาศทางกรุงเทพฯ ไม่ดีเท่าทางเหนือนั่นเอง แสดงว่ากุหลาบจะบาน ดอกใหญ่ งดงามนั้น ต้องมีปัจจัยหลายอย่างรวมกัน แต่ที่แน่ๆ คืออากาศที่เย็นเป็นตัวช่วยที่สำคัญ

ในเรื่องเล่าประวัติความเป็นมาของกุหลาบ ก็เล่ากันไปต่างๆ นานา เป็นเรื่องธรรมดาเพราะกุหลาบมีอายุยืนนานย่อมมีเรื่องราวที่เล่าขานกันมานานเช่นกัน แต่ใจความสำคัญนั้นอยู่ที่ความเป็นอมตะของกุหลาบ ยากนักจะหาดอกไม้ชนิดไหนเปรียบได้ ทำให้หลายๆ คนหันมาสนใจดอกไม้สีสวย มีกลิ่นหอมชนิดนี้กันมาก แน่นอนคุณก็เป็นอีกคนที่สนใจอยากจะปลูกกุหลาบไว้เชยชมสักต้น ฉะนั้นลองมาทำความรู้จักกุหลาบอีกชนิด แล้วคุณจะรักกุหลาบมากขึ้น


บทความจากหนังสือกุหลาบราชินีแห่งดอกไม้
โดย อาจารย์เศรษฐมันตร์ กาญจนกุล