วันเสาร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

เรื่องเล่า.....ตำนานกุหลาบ


ตำนานเล่าขานว่ากุหลาบเกิดขึ้นเมื่อกว่า 70 ล้านปีมาแล้วโดยมีหลักฐานการค้นพบฟอสซิล ของกุหลาบเป็นครั้งแรกในประเทศสหรัฐอเมริกา ที่รัฐโคโลราโด และรัฐโอเรกอน และยังพบเครื่องประดับที่ทำด้วยทองเป็นรูปดอกกุหลาบของชาวสุเมเรียน โดยนักโบราณคดีชาวอังกฤษ (เซอร์เลนเนิร์ด วูลลีย์) จากหลักฐานที่พบลักษณะเป็นกุหลาบป่าที่มีอายุถึง 40 ล้านปี ปัจจุบันกุหลาบป่าได้เปลี่ยนลักษณะไปจากเก่า เนื่องจากมนุษย์ได้นำเอากุหลาบป่ามาปลูก และผสมพันธ์ ขยายพันธุ์เป็ฯพันธุ์ต่างๆ มากมาย ตามประวัติประเทศต่างๆ เล่ากันมาว่า กุหลาบป่าถูกนำมาปลูกไว้ในพระราชวังของจักรพรรดิ์จีน ในยุคสมัยราชวงศ์ฮั่นประมาณเมื่อ 5000 ปีมาแล้ว ประเทศอียิปต์ก็เช่นกันปลูกกุหลาบเป็นไม้ดอกประดับและส่งไปขายให้แก่ชาวโรมัน เพราะชาวโรมันเชื่อว่าดอกกุหลาบเป็นสัญลักษณ์ของความรัก เป็นของขวัญ และเป็นดอกไม้ที่ร้อยเป็นมาลัยต้อนรับแขกหรือไว้สำหรับพิธีเฉลิมฉลองต่างๆ นอกจากนี้ยังทำเป็นน้ำมันหอมระเหยและส่วนประกอบในการทำขนม ทำไวน์ ฯลฯ

มาถึงยุคสมัยของพระนางโจเซฟิน (Josephine) ปี ค.ศ. 1804 ราชินีของกษัตริย์นโปเลียนที่ 1 แห่งราชวงศ์ฝรั่งเศส พระองค์ทรงคลั่งไคล้ในเสนห์ของกุหลาบเป็นอันมาก ทรงพยายามรวบรวมสายพันธุ์กุหลาบไว้หลากหลายชนิด และทุ่มเงินสร้างสวนกุหลาบที่มาเลซอง (Malmaison) มีสายพันธุ์กุหลาบกว่า 250 สายพันธุ์ นอกจากนี้พระองค์ยังให้จิตรกรวาดภาพกุหลาบในสวนของพระองค์เองเป็นภาพสีน้ำ โดยจิตรกรชื่อปีแยร์ โจเซฟ เรอดูเต (Pierre Joseph Redoute) เชื่อกันว่ากุหลาบในสวนของพระนางโจเซฟิน เป็นบรรพบุรุษของกุหลาบในยุคปัจจุบัน กุหลาบในสมัยนั้นมักจะออกดอกแค่ปีละครั้ง และถาพวาดจิตรกรรมเหล่านั้นได้ถูกนำมาตีพิมพ์เป็นหนังสือกุหลาบ (Les Roses) ซึ่งคำว่ากุหลาบมาจากคำว่า "คุล" ในภาษาเปอร์เซีย แปลว่า "สีแดง ดอกไม้ หรือดอกกุหลาบ" และเข้าใจว่าเปอร์เซียได้แพร่เข้าไปในอินเดีย เพราะในภาษาฮินดูมีคำว่า "คุล" แปลว่า "ดอกไม้" และคำว่า "คุลาพ" หมายถึงกุหลาบอย่างที่ไทยเาเรียกกัน แต่ออกเสียงเป็น "กุหลาบ" ส่วนคำว่า "Rose" ในภาษาอังกฤษนั้นมาจากคำว่า "Rhodon" ที่แปลว่ากุหลาบในภาษากรีก

บทความจากหนังสือกุหลาบราชินีแห่งดอกไม้
โดย อาจารย์เศรษฐมันตร์ กาญจนกุล

ตำนานกุหลาบในเมืองไทย



สำหรับกุหลาบที่ปลูกในประเทศไทย ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าเข้ามาตั้งแต่สมัยไหนแต่พบหลักฐานจากบันทึของ ลา ลูแบร์ (La Loudere) ราชทูตฝรั่งเศสในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช บันทึกไว้ว่าได้เห็นกุหลาบที่กรุงศรีอยุธยา และอีกแห่ง ซึ่งเป็นพระนิพนธ์ของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร ปรากฎอยู่มรกาพย์ห่อโคงนิราศธารโศกสมัยกรุงศรีอยุธยา ได้กล่าวไว้ว่า

กุหลาบกลิ่ยเฟื่องฟุ้ง เนื่องนอง
หอมรื่นชื่นชมสอง สังวาส
นึกกระทงใส่พานทอง ก่ำเก้า
หยิบรอจมูกเจ้า บ่ายหน้าเบือนเสีย

แสดงว่ากุหลาบเริ่มเป็นที่สนใจของชาวไทยสมัยอยุธยา นอกจากนั้นในสมัยรัชกาลที่ 5 กุหลาบยังเป็นที่นิยมปลูกกันในเหล่าบรรดาข้าราชการ ปลูกเพื่อประดับสวนและตกแต่งอาคารบ้านเรือนให้สวยงาม กุหลาบเป็นไม้ดอกที่นิยมปลูกกันมาเรื่อยจนถึงสมัยปัจจุบัน ในยุคสมัยนี้ สายพันธ์กุหลาบมีมากมายยิ่งขึ้นกว่าเดิม ด้วยวิทยาการสมัยใหม่ การเรียนรู้ที่ง่ายต่อการขยายสายพันธ์ที่ใครๆ ก็ทำได้ ทำให้กุหลาบมีสายพันธ์เพิ่มมากยิ่งขึ้น

บทความจากหนังสือกุหลาบราชินีแห่งดอกไม้
โดย อาจารย์เศรษฐมันตร์ กาญจนกุล

วันพุธที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

สูตรพิฆาตเพลี้ยหอยจากก้นครัว หมายเลข 1



จากความเดิมเมื่อตอนที่แล้วว่าด้วยเรื่อง เพลี้ยหอยบุกกุหลาบในสวนต้องทำอย่างไร ? ด้วยความที่ไม่ชอบใช้ยาฆ่าแมลงที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และถ้าเป็นไปได้ก็จะไม่ฆ่า ก็เลยพยายามหาวิธีกำจัดเพลี้ยหอยแบบให้เกิดอันตรายน้อยที่สุด วันนี้ก็เลยลองหาใน google ดู ก็ไปพบสูตรนี้เข้า เห็นแล้วประทับใจมากครับกับความคิดของเจ้าของสูตร โดยเจ้าของสูตรอยู่ที่นี่นะครับ กลุ่ม คนรักต้นไม้

สูตรที่ว่านี้เป็นของก้นครัวตามชื่อจริงๆ ประหยัดเงินและก็ไม่อันตรายต่อสุขภาพเราด้วย เตรียดจดกันนะครับ
  1. น้ำมันพืชประกอบอาหาร 1 ส่วน โดยประมาณ
  2. น้ำจากก๊อกน้ำในครัวอีก 9 ส่วน โดยประมาณ
  3. น้ำยาล้างจานที่วางไว้ข้างอ่างในครัว อีก 1-2 กด
เทคนิคการผสม คือ ใส่ทุกอย่างลงในขวด คน แต่ไม่ เขย่า จนทั้งหมดละลายเป็นเนื้อเดียวกัน น้ำไปฉีดพ่น ประมาณ 2-3 ครั้ง ผ่านไปสองสัปดาห์ เพลี้ยหอยจะตายโดยเปลี่ยนสีจากสีน้ำตาลไปเป็นสีดำ ปริมาณลดลงอย่างเห็นได้ชัด

ข้อควารระวังในการใช้สูตรนี้ คือ อย่าฉีดตอนเช้าเดี๋ยวใบไหม้ ให้ฉีดตอนย่ำค่ำนะครับ เจ้าของสูตรเค้าบอกไว้ แล้วเวลาผสมก็เอาแค่พอใช้นะครับ ไม่ต้องผสมเก็บเดี๋ยวสูตรเพี้ยน :)

ปล.สูตรนี้ผมยังไม่ได้ลองนะครับ ตื่นเต้นมากเลยเอาพิมพ์ไว้ก่อน

การให้น้ำกุหลาบ


วันนี้เอาเรื่องง่ายๆ เบาๆ นะครับ คือ การดูแลให้น้ำกุหลาบ ซึ่งเป็นพืชที่ต้องการความชื้นสูง สำหรับผมจะให้น้ำกุหลาบทุกวันยกเว้นหน้าฝนซึ่งต้องพิจารณาสภาพดินอีกที แต่ถ้ากระถางไหนน้ำซึ่มไม่ค่อยดีก็จะให้ในปริมาณที่น้อยหน่อยครับ เพราะดินอาจกลายสภาพเป็นดินเหนียวไปแล้วจึงทำให้น้ำไหลซึ่มไม่ดีซึ่งจะทำให้รากเน่าได้ ส่วนเพื่อนๆ อาจเว้นระยะการรดน้ำได้คือ ไม่จำเป็น ต้องรดน้ำทุกวัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพดินปลูกนะครับ

ข้อควรจำในขณะให้น้ำกุหลาบ คือ

  1. อย่ารดน้ำโดนใบเพราะเชื้อโรคที่อยู่ตามใบและส่วนต่างๆของต้นกุหลาบจะแพร่กระจ่ายได้ง่าย
  2. อย่ารดน้ำแรงเกินไปจนทำให้ดีกระเด็นขึ้นไปจับตามใบกุหลาบ เพราะที่ดินก็จะมีเชื้อโรคที่พร้อมจะระบาดเช่นกัน ทางป้องกันที่ดีอีกวิธีหนึ่งก็คือ ใช้ขลุยมะพร้าวคลุมผิวดินก็จะช่วยได้ระดับหนึ่งนะครับ แต่ก็ต้องคอยเติมเรื่อยๆ ขลุยมะพร้าวจะช่วยทั้งกันเชื้อโรคจากดินกระเด็นไปจับตามกิ่งตามใบกุหลาบและยังช่วยรักษาความชื้นให้ต้นกุหลาบด้วย
  3. ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ก็ให้รดน้ำกุหลาบตอนเช้าจะเป็นเวลาที่เหมาะสมที่สุดครับ จะทำให้โอกาสเกิดโรคกับกุหลาบน้อยลง
เท่าที่ผมสังเกตดูนะครับ ถ้าต้นไหนที่ผมรดน้ำไปโดนใบ ใบของต้นนั้นจะมีฟ่าขาวๆ คล้ายๆ เชื้อรา ยังไม่รู้เหมือนกันครับว่าเป็นอะไรกันแน่ ถามบางคนก็บอกว่าเพลี้ยแป้ง บางคนก็บอกราน้ำค้าง แต่ผมว่าน่าจะเป็นอย่างหลังมากกว่า แต่ก็ยังไม่รู้วิธีรักษา ได้แต่เด็ดใบทิ้ง ใครรู้ช่วยแนะนำหน่อยนะครับ เอาบุญ :)


วันจันทร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

สายพันธุ์กุหลาบที่พบเห็นในบ้านเรา


ต้องบอกไว้ก่อนนะครับว่า โพสนี้ไปก๊อบปี้เค้ามา เพราะว่าเรื่องสายพันธุ์กุหลาบ ผมเองไม่ค่อยได้สนใจศึกษามากนัก ไปหาดูตามร้านขายข้างทาง ถ้าแปลกๆ ถูกๆ ก็จะซื้อมาลองเลี้ยงดู

โดยพัณธุ์กุหลาบที่จะพบในบ้านเราก็จะมีประมาณนี้นะครับ

1. กุหลาบตัดดอกหรือไฮบริดที (Hybrid Tea หรือ HT) ปกติมัก ออกดอกเป็นดอกเดี่ยวมีขนาดโต กลีบดอกซ้อน พุ่มต้นตั้งตรงสูงประมาณ 1-2 เมตร กุหลาบที่มีขายทั่วไป ตามท้องตลาดขณะนี้มักจะเป็นกุหลาบประเภทนี้ อย่างไร ก็ตาม พันธุ์ ไฮบริดที นั้น มิได้ใช้บลูกเป็นไม้ตัดดอกได้ดีทุกพันธุ์ ดังนั้น จำเป็น ต้องคัดเลือกพันธุ์ให้เหมาะสมสำหรับแต่ละท้องที่ ลักษณะที่เหมาะสมสำหรับจะใช้ เป็นพันธุ์สำหรับตัดดอก คือ
  • แข็งแรง ต้นโต เลี้ยงง่ายและเจริญเติบโตได้ดี
  • ออกดอกสม่ำเสมอไม่โทรมไวเมื่อถูกตัดดอกไปมาก ๆ
  • ทนต่อโรคและแมลงได้ดีพอสมควร
  • ลำต้นตั้งตรง ซึ่งจะทำให้ปลูกได้ชิดกันเป็นการประหยัดเนื้อที่
  • ให้กิ่งก้านยาวตรง มีหนามน้อย ใบงามสมดุลกับกิ่ง
  • ฟอร์มดอกดี ทรงดอกยาวแบบแจกันหรือปลายกลีบดอกแหลม
  • กลีบดอกไม่ซ้อนหนาเกินไปจนดอกบานไม่ออก
  • กลีบดอกหนา ทนต่อการบรรจุหีบห่อและขนส่ง
  • ดอกมีสีสะดุดตาและไม่เปลี่ยนสีเมื่อดอกโรย
  • ไม่เหี่ยวเฉาง่ายหลังจากตัดแล้ว
ปัจจุบันกุหลาบที่นิยมปลูกเป็นไม้ตัดดอกในประเทศไทยมีอยู่มากมายหลายพันธุ์ แต่พันธุ์ที่กรมส่งเสริมการเกษตรแนะนำให้ปลูกมีดังนี้

  • พันธุ์ดอกสีแดง ได้แก่ พันธุ์บราโว. เรดมาสเตอร์พีช, คริสเตียนดิออร์, โอลิมเปียด, นอริค้า, แกรนด์มาสเตอร์พีช, ปาปามิลแลนด์, เวก้า
  • พันธุ์ดอกสีเหลือง ได้แก่ พันธุ์คิงส์แรนซัม, ซันคิงส์, เฮสมุดสมิดท์,นิวเดย์ โอรีโกลด์ และเมลิลอน
  • พันธุ์ดอกสีส้ม ได้แก่ พันธุ์ซันดาวน์เนอร์, แซนดรา, ซุปเปอร์สตาร์หรือทรอพปิคานา
  • พันธุ์ดอกสีชมพู ได้แก่ พันธุ์มิสออลอเมริกาบิวตี้ หรือมาเรีย, คาสลาส, ไอเฟลทาวเวอร์, สวาทมอร์, เฟรนด์ชิพ, เพอร์ฟูมดีไลท์, จูวังแซล, เฟิร์สท์ไพรซ์, อเควเรียส, ซูซานแฮมเชียร์
  • พันธุ์ดอกสีขาว ได้แก่ พันธุ์ไวท์คริสต์มาส เอทีนา
  • พันธุ์ดอกสีอื่นๆ ได้แก่ พันธุ์แยงกี้ดูเดิ้ล, ดับเบิ้ลดีไลท์, เบลแอนจ์
นอกจากนี้ยังมีกุหลาบสำหรับเด็ดดอกร้อยพวงมาลัย เช่น กุหลาบพันธุ์ฟูซิเลียร์ ซึ่งมีดอกสีส้ม

2. กุหลาบพวง หรือ ฟลอริบันด้า ( Foribunda หรือ F.) กุหลาบพวงมีความแข็งแรงทนทานกว่ากุหลาบตัดดอก ออกดอกดกแต่ดอกไม่ใหญ่เท่ากับกุหลาบตัดดอกแต่มีครบทุกสี และออกดอกเป็นช่อทีละหลาย ๆ ดอก จึงนิยมเรียกว่ากุหลาบพวง และมักบานพร้อมกัน ดอกมีขนาดเล็ก พุ่มต้นตั้งตรงสูง ประมาณครึ่งเมตรถึง 1 เมตร เหมาะสมที่จะปลูกในแปลงประดับและในกระถางเช่น พันธุ์ฟูซีเลียร์, พันธุ์แองเจลเฟส
3. ประเภทแกรนดิฟลอร่า (Grandiflora หรือ Gr. ) กุหลาบประเภทนี้เป็นกุหลาบลูกผสมระหว่างกุหลาบตัดดอก และกุหลาบพวง มีลักษณะเป็นดอกเดี่ยว แต่ดอกเล็กกว่ากุหลาบตัดดอก มีก้านยาว ต้นโต สูง และแข็งแรง เช่ น พันธุ์คาเมล็อท, พันธุ์คาเสทไนท์
4. กุหลาบ หรือ มินิเอเจอร์ (Miniature หรือ Min.) เป็นกุหลาบที่มีขนาดพุ่มต้นเล็ก สูง 1- 2 ฟุต ออกดอกเป็นพวงและดอกมีขนาดเล็ก นิยมปลูกประดับแปลง และใช้เป็นไม้กระถาง เช่น พันธุ์เบบี้ มาสเคอร์เหรด
5. กุหลาบเลื้อย หรือ ไคลมเบอร์ (Climher หรือ Cl.) กุหลาบชนิดนี้ลำต้นสูงตรง นำไปเลื้อยพันกับสิ่งต่าง ๆ ได้ดอกมีทั้งเป็นดอกขนาดใหญ่ และดอกเป็นพวง เช่น พันธุ์ดอนจวน, พันธุ์ค็อกเทล
6. ประเภทโพลีแอนท่า (Polyantha หรือ Pol.) เป็นกุหลาบลูกผสมระหว่างพันธุ์โรซ่า มัลติฟอร่า กับ โรซ่า ไชเนนซิสมีขนาดพุ่มต้นเตี้ย แข็งแรงและทนทานมาก ออกดอกเป็นพวงคล้ายกุหลาบพวง ลักษณะดอกและต้นคล้ายกุหลาบหนูแต่จะแตกต่างกับกุหลาบหนูตรงที่กุหลาบโพลีแอ นท่าจะมีหูใบที่มีลักษณะของพันธุโรซ่า มัลติฟลอร่า กุหลาบประเภทนี้ เช่น พันธุ์วายวอน ราเบีย
7. ประเภทแรมเบลอร์ (Rambler หรือ R) มีลำต้นยาวและอ่อนโค้งออกดอกเป็นพวง และดอกมีขนาดเล็ก เช่น พันธ์ไดโรที เปอร์กิน
8. กุหลาบพุ่ม หรือซรับโรส (Shrub หรือ S.) ได้แก่กุหลาบพันธุ์ป่าหรือลูกผสมของพันธุ์ป่า ซึ่งมีทรงต้นเป็นพุ่ม ออกดอกเป็นช่อ ดอกมีขนาดเล็กส่วนมากมีกลีบชั้นเดียว เช่น พันธ์โรซ่า นิติด้า, โรซ่า มัลติฟลอร่า, โรซ่า รูโกซ่า

แล้วจะพยายามหารูปมาแทรกให้ดูนะครับ

เพลี้ยหอยบุกกุหลาบในสวนต้องทำอย่างไร?


เพลี้ยหอย (Scale insect ) หรือที่เรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า เพลี้ยเกล็ด เป็นแมลงชนิดปากดูดน้ำเลี้ยงพืช โดยเกาะแน่นตามลำต้นและกาบใบกุหลาบ เพลี้ยหอยจะกลั่นสารออกมาทำให้เกิดราดำปกคลุม เป็นอุปสรรค์ต่อการสังเคราะห์แสง ทำให้ต้นกุหลาบชะงักการเจริญเติบโต ทรุดโทรม ใบมีสีเหลือง ช่อดอกสั้น ขนาดดอกเล็กลงอย่างมาก และถ้ามีมาก ๆ กุหลาบอาจเหี่ยวจนถึงตายได้ ของผมเองก็ตายไปแล้วต้นหนึ่ง มักจะระบาดมากในช่วงฤดูแล้ง ในหน้าฝนไม่ค่อยพบการระบาดครับ ถ้าพบเห็นแล้วต้องรีบกำจัดนะครับ ไม่งั้นจะลุกลามไปต้นอื่นอย่างรวดเร็ว เพราะในช่วงแรกเราจะยังไม่เห็นตัวเพลี้ยหอย ถ้าเห็นเมื่อไหร่แสดงว่ามันโตเป็นหนุ่มเป็นสาวแล้ว พร้อมที่จะแพร่พันธ์

ในการกำจัดเท่าที่อ่านเจอก็มีหลายวิธีนะครับ

  1. ยาฆ่ามด เช่น พวกคาร์บาริล หรือ ไดอซินอน จะช่วยไม่ให้มีการเคลื่อนย้ายของเพลี้ยหอย เพราะมดจะเป็นตัวนำาการแพร่ระบาดของพวกเพลี้ยต่างๆ สังเกตดูถ้าเริ่มมีมดเพลี้ยก็จะตามมาครับ
  2. ถ้ามีการระบาดไม่มากนัก ทำการรูดเพลี้ยหอยออกจากต้นกุหลาบหรือตัดแต่งกิ่งที่ตัวเพลี้ยจับทิ้งแล้วทำลายเสีย ทางที่ดีพ่นยากันไว้ก่อนเลยครับ กันเหนียว เพราะในระยะแรกเราจะยังมองไม่เห็นตัวมันหรอกครับ ส่วนกิ่งหรือใบที่ตัดทิ้งก็ให้เอาใส่ถุงผูกปากไปทิ้งไกลๆ นะครับ หรือจะเผาก็ได้ตามแต่
  3. ใช้ยาป้องกัน ออทุส มาลาไธออนผสม white oil อะเซฟเฟท แลนเนท คลอร์ไพริฟอส(ยากำจัดปลวก)
  4. ตอนนี้ก็กำลังลองใช้น้ำยาล้างจานครับ เพราะเห็นเค้าบอกว่า การกำจัดเพลี้ยห้อยต้องทำให้มันขาดอากาศหายใจ แต่ยังไม่แน่ใจนะครับว่าวิธีนี้จะได้ผลหรือเปล่า เพราะผมเองไม่ชอบใช้ยาฆ่าแมลง ก็เลยต้องลองดูวิธีนี้ก่อน
ปกติเมื่อเพลี้ยหอยตายแล้วก็จะยังคงเกาะอยู่ที่เดิมนะครับ เพื่อให้มั่นใจ ควรฉีดพ่นยาประมาณ 3 วันติดกันไปเลย สิ่งสำคัญ คือ ควรฉีดพ่นยาให้กับกุหลาบทุกต้นเลยนะครับ ถ้าอยู่ในบริเวณเดียวกัน ไม่งั้นจะเสียใจอย่างผม เพราะตอนแรกเห็นแค่ 2 ต้น ก็ฉีดแค่นั้น พอ 2 ต้นนั้นหาย ต้นอื่นเป็นต่อเลยครับ ตอนนี้ก็กำลังไล่กำจัดใหม่

เกือบลืมเลยครับ ถ้าใครใช้พวกน้ำมันสำหรับฆ่าเพลี้ยหอย บางตัวอาจทำให้ใบกุหลาบล่วงนะครับ ไม่ต้องตกใจ หลังจากเพลี้ยหอยตาย ก็ให้เราฉีดพ่นกระตุ้นการแตกตา เช่น เฟตามีนคอมบี กุหลาบก็จะแตกตาใหม่ใคร รับรองงามกว่าเดิม


วันอาทิตย์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ปลูกกุหลาบอย่างไรให้ดูแลง่าย


วันนี้ตอนเช้าเพิ่งพ่นเฟตามีนคอมบีผสมน้ำยาล้างจานให้น้องกุหลาบไปครับ ด้วยเหตุผล 2 ข้อ คือ ข้อแรกกระตุ้นให้แตกตาใหม่ ๆ เนื่องจากเมื่อวานได้ตัดแต่งกิ่งครั้งใหญ่ไป เพราะตัดดอกออกมาให้แฟนวันวาเลนไทน์ :) ข้อสอง โดนเพลี้ยหอยเล่นงานครับ ปกติต้องใช้น้ำมันอะไรซักอย่างพ่นเพื่อให้เพลี้ยหอยขาดอากาศหายใจตาย แต่ว่าหมด ก็เลยลองน้ำยาล้างจานดูเผื่อเวิร์ก

มาเข้าเรื่องกันครับ โดยปกติแล้วการปลูกกุหลาบก็จะมีอยู่สองทางเลือก คือ ปลูกลงดิน และปลูกลงกระถาง ผมเองก็ลองทำมาแล้วทั้งสองวิธี ข้อยืนยันว่าถ้าเป็นการปลูกเพื่อดูเล่นในสวนแล้วละก็ ปลูกลงกระถางดีกว่าครับ เพราะอะไร ? เพราะ
  1. เนื่องจาก ฤดูเปลี่ยน ใจคนเปลี่ยน อุ้ย ! ไม่ใช่ ฤดูเปลี่ยน แดดก็เปลี่ยนทิศ กุหลาบอาจได้รับแสงน้อยเกินไป ซึ่งสำหรับกุหลาบแล้วอย่างน้อยก็น่าจะซัก 6 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อให้ต้นสังเคราะห์แสง ค่าเชื้อโรคเชื้อราที่ผิวดิน และกระตุ้นการแตกตา ดังนั้นการปลูกกุหลาบลงกระถางก็จะช่วยเราได้ในเรื่องนี้
  2. เวลาอาหารในดินหมด หรือดินกลายเป็นดินเหนียวทำให้รากเน่า ก็เปลี่ยนดินได้ง่ายกว่า แต่โดยมากผมจะใช้วิธีเติมครับ คือเลือกดินให้ดีตั้งแต่แรก
  3. การตัดแต่งกิ่งทำได้สะดวกกว่า เพราะเราสามารถหมุ่นกระถางได้ ถ้าเข้าไปตัดแต่งในดงที่ปลูกลงดินก็ต้องมีโดนหนามกุหลาบเกี่ยวกันบ้าง
  4. ย้ายหลบฝนได้ ทำไมต้องย้าย ? เพราะถ้าฝนตกหนัก กุหลาบจะได้น้ำมากเกินไปจนรากเน่าเอาง่าย ๆ
  5. ย้ายหนี้โรคได้ อย่างถ้าเพื่อนเราเป็นหวัด 2009 เราก็เดินหนีมันซะ :) นิสัย กุหลาบก็เหมือนกัน ถ้าต้นใกล้ๆ กันเป็นโรค หรือถูกแมลงกวน เราก็ควรย้ายต้นนั้นไปรักษาที่โรงหม้อให้หายก่อน ฃหรือถ้าเพื่อนๆ เป็นกันเยอะ เราก็ย้ายตัวเองหนีออกมาซะ แต่ก็ควรฉีดยาป้องกันให้ต้นที่ไม่เป็นด้วย เพื่อบางทีอาจเป็นแต่เราไม่เห็นอาการ
  6. เวลาใส่ปุ๋ยใส่ยา ก็กะปริมาณง่าย เพราะพื้นที่ในกระถางมันจำกัด แต่ถ้าปลูกลงดินสำหรับผมคิดว่าเปลืองปุ๋ยกว่า
เอาเป็นว่าเหตุผลใหญ่ๆ สำหรับผมก็มีแค่นี้ (นึกออกแค่นี้) อย่างวันนี้ผมก็ย้ายกระถางหนึ่งออกไปจากเพื่อนๆ เพราะว่าถูกเพลี้ยหอยตัวดีเล่นงาน เดี๋ยวพรุ่งนี้จะถ่ายรูปมาให้ดูนะครับ ว่าเพลี้ยหอยตัวดี หน้าตาเป็นอย่างไร แล้วมันทำให้เกิดความเสียหายอะไรบ่้างกับกุหลาบของเรา

การตัดแต่งกิ่งกุหลาบ


สำหรับผู้ที่ปลูกกุหลาบ ถ้าใครไม่เคยตัดแต่งกิ่งกุหลาบเลย แล้วหวังจะให้ออกดอกงดงามคงเป็นไปได้ยากครับ เพราะการตัดแต่งกิ่งเป็นสิ่งสำคัญมาก หากปล่อยให้กุหลาบแตกกิ่งก้านสาขาเองอย่างอิสระ ก็จะทำให้แตกกิ่งมากเกินไป และก็ได้กิ่งที่ไม่สมบูรณ์ ดอกก็จะเล็กลง หากใบหน้าทึบเกินไปก็จะทำให้เป็นที่สะสมโรคกุหลาบและแมลงต่างๆ ฉนั้นจึงควรตัดแต่งกิ่งกุหลาบให้ลำต้นโปร่งอยู่เสมอ การตัดแต่งกิ่งบ่อยๆ ยังมีผลดีอีกคือ ช่วยให้แสงแดดลอดผ่านได้ดีกระตุ้นการแตกตาตามโคนต้น ซึ่งจะเป็นกิ่งกระโดงที่แข็งแรงต่อไป อีกทั้งยังทำให้เราดูแลดินในแปลงปลูกหรือกระถางได้ง่ายขึ้น โดยการตัดแต่งกิ่งผมจะทำอยู่ 3 ลักษณะ คือ
  1. การตัดดอก โดยปกติผมจะไม่ปล่อยให้ดอกแห้งตายคาต้นครับ จะชิงตัดก่อนที่จะเหี่ยว อาจเอาไปปักแจกันไหว้พระก็ได้นะครับ เพราะหากเราปล่อยให้ดอกเหี่ยวคาต้นบางครั้งกุหลาบอาจแตกกิ่งใหม่ออกมาใกล้ๆ ดอก ซึ่งจะเป็นกิ่งที่ไม่ค่อยสมบูรณ์ ดอกที่จะออกต่อไปก็จะเล็กลงๆ ผมจะตัดต่ำจากดอกลงมาประมาณ 5 ใบ ครับ จะเป็นต่ำแหน่งที่จะแตกตาใหม่ได้ง่ายและสมบูรณ์ให้ดอกกุหลาบที่ใหญ๋ต่อไป
  2. การตัดแต่งทัึ่วไป โดยปกติผมจะทำเดือนละครั้งครับ จะเป็นการตัดเอากิ่งที่แห้งเหี่ยว กิ่งที่ไม่ค่อยแข็งแรง กิ่งที่เป็นโรคและแมลงรบกวน ตลอดจนกิ่งที่แทงเข้าหาทรงพุ่มออก หลังจากที่ตัดแต่งกิ่งในลักษณะนี้แล้ว ประมาณ 1 สัปดาห์ กุหลาบจะแตกกิ่งใหม่ออกมาเต็มไปหมด และจะเป็นกิ่งที่ค่อยข้างแข็งแรง เพราะจะค่อยถูกแย่งอาหาร
  3. ตัดเพื่อย้ายกระถางปลูก การตัดวิธีนี้จะเป็นการตัดสั้น คือจะเหลือแค่กิ่งหลักไว้กับลำต้นเท่านั้น ผมจะทำเมื่อย้ายกระถางกุหลาบ หรือกุหลาบถูกแมลงรบกวนมากๆ หรือเป็นโรคเท่านั้น เรียกว่าตัดไม่เหลือใบเลยครับ
ในการตัดกิ่งกุหลาบนั้นถ้าจะให้ดีควรพ่นยาฆ่าเชื้อราตรงรอยตัดด้วยนะครับ เพื่อป้องกันกิ่งติดเชื้อราแล้วแห้งตาย บางคนที่ไม่มียาฆ่าเชื้อราก็จะเอาปูนกินหมากสีแดงๆ นั้นแหละครับ ทาตรงรอยที่ตัด ที่สำคัญ กรรไกรตัดกิ่งควรทำความสะอาดก่อนนำไปใช้ทุกครั้ง

วันเสาร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

หนอนและแมลงศัตรูกุหลาบ



เรื่องแมลงศัตรูกุหลาบ ผมเองก็ยังเจอกับตัวเองไม่ครบทุกอย่างนะครับ ที่เอามาโพส ก็ก๊อบปีมาอีกนะครับ ต้องขออนุญาตและขอโทษผู้ที่โพสเป็นท่านแรกไว้ณที่นี้ด้วย

พวกหนอนและแมลงที่จะพบมากกับต้นกุหลาบก็มีดังนี้ครับ

  1. หนอนเจาะดอก เป็นหนอนผีเสื้อกลางคืนขนาดเล็กซึ่งจะวางไข่อยู่ที่กลีบดอกด้านนอก เมื่อไข่ฟักออกเป็นตัวจะกัดกินดอกและอาศัยอยู่ในดอก ระบาดมากช่วงที่กุหลาบให้ดอกดกหรือในช่วงฤดูหนาว ควรป้องกันโดยใช้สารเคมี ประเภทดูดซึม เช่น ดิลดริน ฟอสดริน
  2. หนอนกินใบ เป็นหนอนของผีเสื้อกลางคืน มักวางไข่อยู่ใต้ใบ เมื่อไข่ฟักเป็นตัวหนอนก็จะทำลายใบที่อาศัย บางชนิดทำลายเฉพาะผิวเนื้อใต้ใบทำให้ใบมีลักษณะโปร่งใสมองเห็นได้ชัดเจน สารเคมีที่ใซ้ได้ผลดี เช่น เอนดริน
  3. หนอนเจาะต้น เป็นหนอนของผึ้งบางชนิดและหนอนของแมลงวันบางชนิด อาจจะเป็นหนอนของพวกต่อแตนด้วย หนอนชนิดนี้จะเจาะกินไส้กลาง และบริเวณท่อน้ำของกิ่งหรือต้น ทำให้กิ่งและต้นแห้งตาย ควรป้องกันกำจัดโดยการ ตรวจดูบริเวณรอยต่อระหว่างกิ่งแห้งและกิ่งดี หากพบตัวหนอนก็ทำลายเสียหรือ ป้องกันโดยการตัดแต่งกิ่งตามกำหนด
  4. แมลงปีกแข็ง บางทีเรียกด้วงปีกแข็ง มีทั้งชนิดตัวสีดำและสีน้ำตาลขนาดประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร ออกหากินในเวลากลางคืนระหว่าง 1-3 ทุ่ม โดยการกัดกินใบกุหลาบ ส่วนในเวลากลางวันจะซ่อนตัวอยู่ตามกอหญ้า ป้องกัน โดยใช้สารเคมี เช่น คลอเดน หรือ เซพวิน
  5. ผึ้งกัดใบ จะกัดกินใบกุหลาบในช่วงเวลากลางวัน สังเกตได้ที่รอยแผลมักจะเป็นรอยเหมือนถูกเฉือนด้วยมีดคมๆ เป็นรูปโค้งป้องกันได้เช่นเดียวกับแมลงปีกแข็ง
  6. เพลี้ยไฟ เป็นแมลงปากดูด มีสีน้ำตาลดำ ตัวอ่อนสีขาวนวลจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบและดอก ทำให้ดอกที่ถูกทำลายไม่บาน ระบาดมากในฤดูร้อน ป้องกันโดยการฉีดพ่นด้วยสารเคมี เช่น โตกุไทออน คลอเดนหรือนิโคตินซัลเฟต
  7. เพลี้ยแป้ง เป็นแมลงปากดูดมักเกาะกินตามใบอ่อนหรือง่ามใบ ทำให้ใบหงิกงอ ควรป้องกันกำจัดโดยใช้สารเคมีกำจัดแต่ต้องผสมสารเคลือบใบลงไป ด้วยเพราะบนตัวเพลี้ยแป้งจะมีขนปุยสีขาวปกคลุม ซึ่งมีลักษณะเป็นมันจับน้ำ ได้ยาก
  8. เพลี้ยหอย เป็นแมลงปากดูด มักเกาะทำลายโดยดูดน้ำเลี้ยงจากลำต้น จะสังเกตเป็นเป็นจุดสีน้ำตาลอยู่บนกิ่งของกุหลาบ เพลี้ยหอยนี้มีลักษณะพิเศษ คือ ตัวของมันจะมีเปลือกหุ้มหนาทำให้แมลงซึมเข้าถึงตัวได้ยาก ฉะนั้นวิธีกำจัดที่ได้ผลดีก็คือ ใช้น้ำมันทาหรือฉีดพ่นเคลือบตัวมันไว้ ทำให้เพลี้ยไม่มีทางหายใจ และตายในที่สุด แต่เมื่อเพลี้ยตายแล้วจะไม่หลุดจากลำต้นจะยังติดอยู่ที่เดิม
  9. เพลี้ยอ่อน เป็นแมลงปากดูด ทำลายพืชตรงบริเวณส่วนที่เป็นยอดอ่อนและใบอ่อน ทำให้ใบเหลืองและร่วงหล่น ควรป้องกันกำจัดโดยใช้สารเคมี เช่น ฟอสดริน เอนดริน และพาราไธออน เป็นต้น
  10. แมงมุมแดง เป็นแมงชนิดหนึ่งที่ไม่ใช่ แมลง ตัวมีขนาดเล็กมากเห็นเพียงจุดสีแดงอยู่ตามใต้ใบ โดยจะเกาะและดูดน้ำเลี้ยงจากใบที่ถูกทำลายนั้น ปรากฎเป็นจุดสีเหลืองซึ่งมองเห็นได้บนหลังใบ สำหรับสารเคมีที่ใช้กำจัดได้ผลคือ เคลเทน
สำหรับผมที่เจอบ่อยๆ ก็จะเป็น หนอนผีเสื้อ โดยมากก็เด็ดใบที่มีตัวหนอนทิ้งครับ แล้วก็เอาฟูราดานใส่โคนต้น(ฝัง) เพลี้ยไฟที่ชอบกินยอดอ่นและดอกตูม ผมเจอช่วงแรกๆ ที่ปลูกครับ หลังๆ ไม่มาอีกเลย เพราะผมจะพ่นยาที่ยอดอ่อนที่แตกใหม่ทุก 3-7 วันครับ ที่เจอแล้วหนักสุดสำหรับผมคือเพลี้ยหอยครับ กำลังหาทางแก้อยู่ ส่วนแมงมุมแดง ผมยังสังเกตอาการไม่เป็นครับ เลยไม่รูว่าตัวเองโดนหรือยัง?

โรคกุหลาบ


ต้องยอมรับว่า กุหลาบเป็นพืชที่เกิดโรคได้ง่ายมาก หลังจากที่ผมปลูกมาได้ปีกว่า ก็เจอไปไม่น้อยกว่า 4 โรคแล้ว แต่จริงๆแล้วโรคกุหลาบมีมากมายดังที่จะกล่าวต่อไป สำหรับคนที่ปลูกไหมๆ ก็จะดูได้อยากหน่อยนะครับ ว่าต้นกุหลาบของเราเป็นโรคอะไรบ้าง ต่อไปในอนาคตถ้าเจอก็จะถ่ายรูปมาให้ดูนะครับ ผมเองก็ยังเจอโรคใหม่ๆ เรื่อยๆ ข้างล่างเป็นโรคกุหลาบที่จะพบเห็นกันบ่อยๆ คัดลอกมาจากที่ไหนจำไม่ได้แล้ว

1. โรคใบจุด เกิดจากเชื้อรา มีลักษณะอาการเป็นจุดดำกลมบนใบ ส่วนใหญ่จะเป็นกับใบแก่จะทำให้ใบเหลืองและร่วงในเวลาต่อมา บางครั้งถ้าเป็นมากอาจ ลุกลามมาที่กิ่งด้วย ระบาดมากในฤดูฝน ควรป้องกันโดยฉีดพ่นด้วยสารเคมี เช่น ดูปราวิท ไดเทนเอ็ม-45 แคปแทน เบนเสท และเบนโนมิล
2. โรคราแป้ง เกิดจากเชื้อรา โรคนี้จะเป็นกับยอดอ่อนและดอกอ่อนมีลักษณะเป็นปุยขาวคล้ายแป้งทำให้ส่วนของ พืชที่เป็นโรคนี้เกิดอาการหงิกงอไม่เจริญเติบโตต่อไป ระบาดมากในฤดูหนาว ควรป้องกันโดยฉีดพ่นด้วยสารเคมี เช่น เบนเสท ดาโคนิล และคาราแทน
3. โรคหนามดำ เกิดจากเชื้อราโดยเชื้อรานี้จะเข้าทำลายแผลที่เกิดจากรอยตัดหรือเด็ดหนามของ กิ่งอ่อนแล้วลุกลามไปเรื่อยๆ ตามกิ่งก้าน ทำให้กิ่งก้าน เหี่ยวแห้งตายไปในที่สุดควรป้องกันโดยทาแผลจากรอยตัดด้วยปูนแดง
4. โรคใบจุดสีน้ำตาลหรือโรคตากบ เกิดจากเชื้อรา มีลักษณะอาการเป็นจุดกลมสีน้ำตาลขนาด 1/4 นิ้ว แล้วจะเปลี่ยนเป็นวงกลมสีเทามีขอบสีม่วง-แดง ระบาดมากในฤดูฝน ควรป้องกันโดยใช้สารเคมีเบนเสท ไดเทนหรือแบนแซดดี
5. โรคไวรัส เกิดจากเชื้อไวรัส ลักษณะอาการจะปรากฎให้เห็นที่ใบ โดยใบจะด่างเหลือง เมื่อพบว่าต้นกุหลาบเป็นโรคนี้ให้ถอนและเผาทำลายเสียก่อนที่จะลามไปติดต้น อื่นนะครับ

วันศุกร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ว่ากันเรื่องของปุ๋ยกุหลาบ


วันนี้เอาเรื่องของปุ๋ยมาคุยกัน ใครมีอะไรดีๆ แนะนำก็บอกกันบ้างนะครับ เพราะโดยปกติผลก็จะลองไปทั่ว ใครว่าดีก็ต้องลองกันหน่อย แต่ปัจจุบันปุ๋ยกุหลาบที่ผมใช้อยู่ ก็มีอยู่ไม่มากนะครับ ผมจะแบ่งออกเป็นสองประเภทแล้วกันนะครับ คือฉีดพ่น กับใส่โคนต้น

ปุ๋ยฉีดพ่น หรือปุ๋ยน้ำ คุณประโยชน์ก็จะเป็นพวกให้เกิดการดูดซึมสารอาหารทางใบ หรือกระตุ้นการแตกตา ปุ๋ยประเภทนี้ใช้ได้ผลดีนะครับ เห็นผลทันตา แต่ก็มีข้อควรระวัง คือ ต้องใช้ในปริมาณที่พอเหมาะ ไม่ควรใช้มากเกินไป หรือบ่อยเกิน เพราะจะทำให้กุหลาบไม่ค่อยดูดซึมปุ๋ย และถ้ามากไปก็อาจทำให้ใบไหม้ ควรอ่านรายละเอียดข้างขวดให้ดี ที่ผมเคยใช้อยู่ก็จะมี 2 ตัวนะครับ คือ เฟตามีนคอมบี กับ ดีสปีด ให้ผลใกล้เคียงกัน แต่เฟตามีนคอมบี มีแบ่งขายเป็นขวดเล็กๆ ราคาไม่เกินร้อยบาท ส่วนดีสปีดจะขายขวดลิตรเลย เพราะฉนั้นก็เลยทำให้ผมใช้แต่ เฟตามีนคอมบีมาตลอด สำหรับปุ๋ยน้ำผมจะฉีดพ่นทุกสัปดาห์นะครับ พ่นตามใบ และตามกิ่งด้วยเพื่อกระตุ้นการแตกตา

ปุ๋ยที่ใส่โคนต้น
คุณประโยชน์ก็ให้กุหลาบดูดซึมทางราก ได้แก่อะไรบ้าง
  • ปุ๋ยเม็ดเคมี ผมจะใช้สูตรเร่งใบนะครับ อย่างที่เคยบอกว่า สำหรับกุหลาบ ถ้าใบและรากแข็งแรงอย่างอื่นก็จะดีเอง พวกปุ๋ยเคมีไม่ควรใส่มากนะครับ เพราะจะทำให้ใบไหม้เช่นกัน แล้วก็จะทำให้ดินในแปลงปลูกเป็นกรดมากเกินไป โดยปกติกุหลาบจะชอบดินที่เป็นกรดเล็กน้อย คือ วัด PH ได้ประมาณ 5 กว่าๆ ถึง 6 กว่าๆ (7 คือ ค่าเป็นกลาง มากกว่า 7 เป็นด่างนะครับ) เวลาใส่ปุ๋ยเม็ดเคมีพวกนี้ ผมจะโรยรอบๆโคนต้นหรือในกระถางประมาณ 10 เม็ดเท่านั้น
  • ปุ๋ยคอก ซึ่งผมไม่ชอบใช้เพราะปกติในมูลสัตว์มักจะมีเมล็ดพืชติดมาด้วย ทำให้แปลงปลูกเกิดวัชพืชต้องถอนบ่อย พวกวัชพืชจะไปแยกอาหารต้นกุหลาบนะครับ เจอต้องถอนออกให้หมด
  • ปุ๋ยอินทรีย์ ในปัจจุบันกำลังเป็นที่นิยม เพราะช่วยรักษาสภาพดินด้วย ผมเองก็ใช้อยู่บ้างเป็นครั้งคราวครับ อันนี้ใส่มากก็ได้นะครับ แต่ก็จะเปลือง ปกติผมจะใส่ 1 ช้อนโต๊ะต่อกระถาง ทุก 15 วัน
  • ก้างปลาทะเลป่น เป็นปุ๋ยอีกอันที่ผมชอบ แต่ต้องหาซื้อกันหน่อยนะครับ มีแร่ธาตุหลายอย่างเหมาะสำหรับต้นกุหลาบมาก เพราะเป็นพืชที่กินแร่ธาตุเปลือง ถ้าดูอากการออกว่าต้นกุหลาบขาดธาตุก็ลองหาซื้อตัวนี้มาใช้ดู การใช้ก็ใส่เหมือนปุ๋ยอินทรีย์ครับ
สำหรับผมก็ใช้อยู่เท่านี้นะครับ แต่เมื่อวันก่อนมีน้องข้างบ้านทำวิจัยให้อาจารย์ที่มหาลัย เอาปุ๋ยน้ำที่สกัดจากดินภูเขาไฟมาให้ลองใช้ บอกว่าสรรพคุณดีมากเลย แต่ยังไม่ได้ลอง โดยเฉพาะการปลุกชีพต้นไม้ที่ใกล้ตาย แต่น้องเข้าก็กระซิบมาว่า ดินที่ซื้อมาสกัด โลละเกือบแสนนะคะพี่! อิอิ

วันพฤหัสบดีที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

การดูแลกุหลาบ


กุหลาบต้องได้รับดูแลอย่างสม่ำเสมอนะครับ ถึงจะออกดอกได้ตลอดและต่อเนื่อง เรียกต้องดูกันแทบทุกวันเลยทีเดียว ผมเองก็ดูทุกวันนะครับ หลังตื่นนอนก็จะรดน้ำต้นไม้ทุกเช้า กุหลาบที่บ้านก็เลยออกดอกตลอด แล้วเราต้องดูแลอะไรกันบ้าง เดี๋ยวผมจะอธิบายเป็นข้อๆ แล้วกัน โดยเอาจาก Step ที่ผมทำทุกเช้าแล้วกันนะครับง่ายดี

  1. รดน้ำทุกเช้า บางตำราก็บอกว่าให้ลองเอาไม้จิ้มที่ดินในกระถางดู ถ้ายังชื้นอยู่ก็ไม่ต้องรด ส่วนตัวผมเองรดทุกวันยกเว้นหน้าฝนก็ค่อยว่ากันอีกที แต่อย่างไรก็แล้วแต่ ดินในกระถางต้องชื้นอยู่เสมอนะครับ ไม่งั้นต้นกุหลาบจะมีอาการที่เรียกว่าขาดน้ำ คือ ใบเหลือง ดอกเล็กแกน เพราะฉนั้นการคลุมดินก็เป็นสิ่งสำคัญนะครับ จะช่วยรักษาความชื้นได้มาก
  2. หลังจากรดน้ำแล้วผมก็จะเดินสำรวจ เด็ดใบที่แห้ง หรือเหลืองออกจากต้น รวมทั้งเคลียใบที่ร่วงทิ้งให้หมด ให้กระถางสะอาด เพราะจะได้ไม่มีแหล่งสะสมโรคกุหลาบ
  3. ตัดดอกที่เริ่มเหี่ยวทิ้ง ไม่ต้องรอให้แห้งคาต้นนะครับ การที่เราตัดดอกบ่อยๆ ก็จะช่วยให้ตาใหม่แตกมาเรื่อยๆ บางครั้งผมก็จะตัดปักแจกันไหว้พระไปเลย บางทีก็ตัดไปแจกสาวๆ อิอิ แต่อย่าให้เมียรู้นะ เดี๋ยวจะหาว่าไม่เตือน การตัดดอกก็ให้นับจากดอกลงมา 5 ใบ แล้วตัดนะครับ เป็นการตัดสูง หรือถ้าตัดต่ำก็ตัดใต้รอยตัดคราวที่แล้วแค่นั้น ไว้วันหลังมีเวลาจะทำรูปให้ดู จะได้เห็นชัดๆ ไปเลย แล้วทำไมต้องตัดอย่างนี้ ? ก็เพราะตำแหน่งที่บอก ตาใหม่จะแตกได้เร็วและสมบูรณ์ดี เมื่อตาสมบูรณ์ ก็จะเป็นกิ้งที่แข็งแรง และดอกก็จะอวบอัดตามไปด้วย
  4. ในช่วงที่ตัดแต่งก็จะ สั่งเกตโรค แมลงไปด้วยเลย ส่วนมีโรคอะไร แมลงอะไรบ้างที่รบกวนกุหลาบ ก็ขอติดไว้ก่อน
  5. ทุกครั้งที่กุหลาบแตกยอดอ่อนๆ ออกมา ผมก็จะฉีดยากันเพลี้ยเฉพาะตรงยอดที่แตกออกมา เพราะพวกเพลี้ยไฟมักจะชอบยอดอ่อนๆ แต่ไม่ต้องฉีดเยอะนะครับ เพราะยังไงเราก็ต้องฉีดครั้งใหญ่อยู่แล้วประมาณเดือนละครั้งอย่างน้อย
  6. ผมจะมียากระตุ้นการแตกตา และบำรุงใบอยู่หนึ่งตัวซึ่งจะฉีดพ่นทุกสัปดาห์ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นวันเสาร์อาทิตย์ ยาตัวนี้จะช่วยกระตุ้นให้กุหลาบแตกตาเร็วขึ้น โดยเฉพาะตาที่จะเป็นกิ่งกระโดงในอนาคต
  7. ผมจะใส่ปุ๋ยเม็ดสูตรบำรุงใบ สัปดาห์ละครั้งเช่นกัน ซึ่งปกติก็จะทำพร้อมกันกับ ข้อ 6 เลย ปุ๋ยที่ผมใช้ใส่แค่กระถางละไม่เกิน 10 เม็ด ใส่มากเดี๋ยวใบไหม้
  8. ใส่ฟูราดานทุกเดือน กันหนอนมากินใบ โดยเฉพาะพวกหนอนผีเสื้อ จะเห็นว่าผมถือคติว่าใส่กันไว้ก่อนแทบทุกยา ดีกว่าให้มันมาก่อนแล้วค่อยใส่
  9. ประมาณ 1 เดือน ผมก็จะตัดแต่งกิ่งครั้งใหญ่ 1 ครั้ง จะตัดกิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่รกรุงรังออกให้ต้นโปร่งที่สุดเท่าที่จะทำได้ โปร่งแค่ไหน ? ก็แค่ให้แดดส่องลงมาถึงดินได้เลย เพราะแสดงแดดจะช่วยกระตุ้นให้กิ่งกระโดงที่โคนต้นแตกขึ้นมา
เป็นไงครับ ดูเหมือนยุ่งยากมากเลยใช่มั๊ยครับ ก็ยุ่งนั้นแหละ แต่ถ้าทำบ่อยๆ แล้วทำด้วยใจรักก็จะมองว่าไม่มีอะไรยุ่งเลย สำหรับผมเป็นความสุข

ที่สำคัญจากที่กล่าวมาจะเห็นว่าผมจะไม่ใส่ปุ๋ยบำรุงดอกเลย ไม่เหมือนกับตามร้านต้นไม้ข้างทางแนะนำใช่มั๊ย? ครับ ไม่เหมือนแน่นอน เพราะผมไม่เชื่อ บางคนก็ปลูกต้นไม้ไม่เป็นหรอกครับ รับมาขายเฉยๆ ปุ๋ยก็แนะนำผิดๆ จำไว้ว่าสำหรับกุหลาบ ถ้าใบและรากแข็งแรงทุกอย่างก็จะดีเอง

วันอังคารที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ขั้นตอนการปลูกกุหลาบ


การปลูกกุหลาบไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไรเลย เพียงแต่เราต้องใจเย็นนิดนึง รอเวลาว่าที่เหมาะสมเสียก่อนแล้วค่อยปลูก ไม่ใช่ว่าซื้อมาจากสวนสดๆ ร้อนๆ ก็เอาลงกระถางเลย รับรองว่าเสร็จทุกรายไป :) แรกๆ ผมก็เป็นอย่างนี้แหละครับ ทำอย่างนี้พอดอกหมด ต้นก็เตรียมตายได้เลย มาดูขั้นตอนกันเลยดีกว่าจะได้ไม่เสียเวลา เวลาเป็นเงินเป็นทอง

อุปกรณ์ที่ต้องเตรียม

  1. ต้นกุหลาบที่ถูกเลือกมาเป็นอย่างดี อิอิ
  2. ดินสำหรับปลูกกุหลาบโดยเฉพาะ อันนี้ไม่มีสูตรตายตัวนะครับ ถ้าเราไปถามตามร้านขายต้นไม้ เค้าก็มักจะตอบว่าใช้ได้หมดแหละซึ่งจริงๆแล้วไม่ใช่เลย เรื่องดินเป็นเรื่องที่สำคัญมากที่สุดเลยก็ว่าได้ในการปลูกกุหลาบ แล้วจะเลือกยังไง ? เอาง่ายๆนะครับ เลือกดินที่หลังจากปลูกไปแล้วในอนาคตจะไม่กลายสภาพเป็นดินเหนียวก็แล้วกัน
  3. กระถางดินเผาที่ควรมีความกว้างของปากกระถางอย่างน้อย 1 ฟุต เพราะกุหลาบเป็นพืชที่กินแร่ธาตุในดินมาก ทำให้สารอาหารในดินหมดเร็ว และเราก็จะได้ไม่ต้องเปลี่ยนกระถางบ่อยๆ หากต้นโตขึ้น
  4. ฟูราดาน สำหรับรองก้นกระถาง หรือหลุมถ้าปลูกลงดิน เพื่อป้องกันหนอนมากัดกินใบและดอก
  5. ปุ๋ย ต่างๆ แล้วแต่ความชอบครับ เน่นให้เป็น บำรุงใบแล้วกัน เพราะถ้าใบดี ต้นก็จะแข็งแรง ดอกก็จะมาเองโดยไม่ต้องร้องขอ
  6. ขลุยมะพร้ามป่นสำหรับคลุมบนผิวดินเพื่อรักษาความชุ่มชื้น อันนี้ต้องเอามาแช่น้ำทิ้งไว้ซัก 1 คืน ก่อนใช้นะครับ
ขั้นตอนการปลูก
  1. เมื่อเราซื้อต้นกุหลาบมาไม่ว่าจะพันธุ์อะไรก็ตาม ให้พักต้นไว้ประมาณ 7 วัน ตัดดอกที่ติดมากับต้นปักแจกันให้หมดทั้งตูมทั้งบาน อย่าเสียดาย (นับลงมาจากดอก 5 ใบ แล้วตัด) ก่อนเอาลงกระถางหรือเอาลงดิน ไม่ต้องใส่ปุ๋ยบำรุงใดๆ ทั้งสิ้นในช่วงนี้ เพียงแต่รดน้ำตอนเช้าทุกวันเท่านั้นพอ การรดน้ำต้นกุหลาบ ก็ควรรดที่โคนต้นเท่านั้นนะครับ ไม่ใช่ฉีดน้ำเป็นสายรดทั้งต้น เพราะจะทำให้ต้นกุหลาบเป็นโรคง่าย "อันนี้ต้องจำไว้เลยนะครับ ไม่จำเป็นอย่ารดน้ำให้โดนดอกหรือใบ"
  2. โดยภายใน 7 วันอันตรายนี้ ก็ให้ค่อยๆ ขยับต้นกุหลาบให้โดนแดนวันละนิด เช่น วันแรกให้วางต้นกุหลาบให้อยู่ในตำแหน่งที่โดนแดดประมาณ 1 ชั่วโมงพอ แล้วเพิ่มไปวันละชั่วโมง จนครับ 7 วัน ก็ประมาณ 6-8 ชั่วโมงพอดี
  3. หากไม่มีอะไรผิดพลาดจะเริ่มสั่งเกตเห็นว่ากุหลาบเริ่มแตกตาใหม่ๆ ออกมาใกล้กับบริเวณที่เราตัดดอกทิ้งในขั้นตอนที่ 1 แสดงว่าต้นแข็งแรงดี ถ้าไม่เป็นตามนี้ก็อาจจะมีอาการใบเหลือง ซึ่งแสดงว่าขาดน้ำ (รดน้ำไม่ชุ่มพอ)
  4. วันที่ 8 ถ้าพร้อมก็ปลูกได้เลย โดยให้เอาต้นกุหลาบออกจากถุงเพาะ หรือกระถางเดิมซึ่งใบเล็ก แล้วนำไปใส่กระถางใบใหม่ โดยใส่ดินรองที่ก้อนกระถางก่อนประมาณ 3 นิ้ว กดให้แน่น วางต้นกุหลาบลงไปพร้อมดินเดิมที่ติดต้นมา เทดินที่เหลือใส่ ค่อยๆ อัด เหลือพื้นที่ไว้คลุมขลุยมะพร้าวที่แช่น้ำไว้ด้วยด้ว
  5. ลองรดน้ำดู น้ำควรไหลผ่านชั้นดินลงไปได้ดี แต่ไม่เร็วเกินไป และไม่ช้าเกิน 10 นาที ถ้าเร็วเกินดินก็จะรักษาความชื้นไว้ไม่ดี แต่ถ้าช้าเกินก็จะทำให้รากเนา ซึ่งเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้จริงๆ :)
  6. กระถางกุหลาบควรถูกวางในตำแหน่งที่ได้รับแสงแดดวันละอย่างน้อย 6 ชั่วโมง

วันจันทร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

Roses Planting รายงานตัว


สวัสดีครับ บล๊อกนี้สร้างขึ้นเพื่อ ชวนเพื่อนๆมาแลกเปลี่ยนความรู้ในการปลูกต้นไม้ โดยเฉพาะกุหลาบ ไม้ดอกที่ขึ้นชื่อเรื่องเลี้ยงลอดยาก (จริงหรือเปล่า?) แรกๆผมก็นึกว่าคงจะจริงอย่างที่เขาพูดกัน แต่พอได้ลองสัมผัสและศึกษาด้วยตัวเองบ้างพอสมควร ก็ไม่คิดอย่างนั้นแล้ว กลับสนุกและเพลิดเพลินมากกับการได้ซื้อต้นกุหลาบพันธุ์ใหม่ๆ ดอกสวยๆ มาเพิ่มเป็นสมาชิกใหม่ที่บ้านมากขึ้นเรื่อยๆ บวกกับเพื่อนๆบ้านที่ถอดใจแล้วกับการเลี้ยงกุหลาบก็ยกกระถางมาให้อีกมากมาย ตอนนี้ก็ปลูกมาได้ปีกว่าแล้ว ก็ไม่มีวี่แววว่าต้นไหนจะตาย (อ้อ!...ตายไปต้นนึงแล้ว โดนเพลี้ยหอยเล่นงาน)

ก่อนอื่นต้องบอกไว้ก่อนนะครับว่าผมไม่ใช่เซียนกุหลาบที่ไหน แรกๆไม่ได้อยากปลูกด้วยซ้ำ คนที่อยากปลูกก็ คือ "แฟน" (อยากปลูกแต่ไม่อยากดูแล อิอิ กำ) กรรมก็เลยตกมาที่ผม ด้วยนิสัยส่วนตัวที่เวลาติดปัญหา หรือต้องการรู้อะไรก็มักจะถามครู (ครูเกิ้ล) ก็ได้ข้อมูลมาบ้าง แต่ก็มีไม่มากนัก และส่วนใหญ่ก็ไม่ใช่เว็บหรือบล๊อกที่ให้ความรู้เกี่ยวกับกุหลาบโดยตรง ก็เลยคิดอยากที่จะทำบล๊อกให้ความรู้คนอื่นบ้างในเรื่องนี้ ในรูปแบบของการพูดจาแรกเปลี่ยนกันมากกว่า เพราะผมเองก็อยากรู้อะไรอีกเยอะเลยครับ กับการปลูกกุหลาบ

ส่วนความเป็นไปของบล๊อกนี้ ผมคิดว่า ในช่วงแรกจะพยายามหาความรู้เกี่ยวกับพันธุ์กุหลาบที่น่าสนใจ วิธีปลูกตลอดจนดูแล โรคต่างๆที่รบกวนต้นกุหลาบ ปุ๋ยต่างๆ นาๆ ที่ควรใช้บำรุง การป้องกันแมลงรบกวนกุหลาบ ฯ หลังจากนั้นก็จะเป็นการเล่าแบ่งปันประสบการณ์ในการปลูกกุหลาบของตนเอง แล้วก็จะพยายามถ่ายรูปดอกกุหลาบสวยๆ ทีปลูกเองมาใส่ไว้ในบล๊อกด้วย