วันอาทิตย์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2553

เลือกปุ๋ยแบบไหนดีสำหรับกุหลาบ


โดยทั่วไปปุ๋ยแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ ปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยวิทยาศาสตร์

ปุ๋ยอินทรีย์ ได้แก่ ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด และเศษอาหารจากครัวเรือนก็นำมาหมักเป็นปุ๋ยได้

ประโยชน์ของปุ๋ยคอก...มีอะไรบ้าง ปุ๋ยคอกได้แก่ ขี้หมู ขี้เป็ด ขี้ไก่ ขี้วัว ฯลฯ นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายเพราะหาได้ง่ายตามท้องถิ่น หากอยู่ในเขตกรุงเทพฯ ก็มีปุ๋ยคอกแบบสำเร็จจำหน่ายอยู่มาก ปุ๋ยคอกช่วยปรับปรุงดินให้โปร่งและร่วนซุย ทำให้การเตรียมดินง่ายขึ้น กล้าไม้มีการเจริญเติบโตเร็ว การปลูกกุหลาบก็จำเป็นต้องใส่ปุ๋ยคอก 1 ส่วนในเครื่องปลูก เพื่อช่วยปรับปรุงโครงสร้างของดินให้เหมาะสมต่อการเจริญเติมโตของกุหลาบ ช่วยให้ดินมีการระบายน้ำและอากาศที่ดีขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งธาตุอาหารของจึลินทรีที่เป็นประโยชน์ในดิน ที่สำคัญยังเป็นมิตรกับธรรมชาติอีกด้วย

ปุ๋ยคอกมีส่วนช่วยในการเพิ่มความโปร่งและให้ธาตุอาหารในดินก็จริง แต่ก่อนใช้ต้องนำมาตากทิ้งไว้ให้ผ่านการย่อยสลาย คลายความร้อนลงก่อน ยิ่งเป็นปุ๋ยขี้ไก่จะเข้มข้นแล้วเค็มมากจะเป็นอันตรายต่อระบบรากควรใส่แต่น้อย หรือผสมดินคลุกเคล้า 1 ต่อ 30 ตากทิ้งไว้ก่อนใช้ก็จะดี หาดใส่ปุ๋ยกระดูกป่นเสริมลงไปบ้างจะเติบโตได้มากขึ้น

ปุ๋ยคอกจะมีเมล็ดวัชพืชติดมาด้วย หากวัชพืชงอกขึ้นมาก็ให้หมั่นถอนทิ้ง เพราะจะแย่งสารอาหารที่สำคัญไปหมด

ก่อนใส่ปุ๋ย สังเกตดูหน้าดินแข็งก็พรวนดินหน้าดินก่อน โดยใช้เหล็กปลายแหลมพรวนเบาๆ และอย่าให้ลึกมากเพราะจะทำให้รากขาด หากเลี้ยงไปสักพักดินแข็งมากก็ให้เปลี่ยนดินเสียใหม่

ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ ได้มากจากการผลิตหรือสังเคราะห์จากแร่ธาตุต่างๆที่ได้ตามธรรมชาติ ปุ๋ยวิทยาศาสตร์มีอยู่สองประเภท คือ แม่ปุ๋ยหรือปุ๋ยเดี่ยว และปุ๋ยผสม
  • ปุ๋ยเดี่ยวหรือแม่ปุ๋ย ได้แก่ ปุ๋ยพวกแอมโมเนี่ยมซัลเฟต โพแทสเซียมคลอไรด์ ฯลฯ ซึ่งมีธาตุอาหารหลัก คือ ไนโตรเจน (N) ฟอสฟอรัส (P) และโพแทสเซียม (K) เป็นองค์ประกอบอยู่ด้วยหนึ่งหรือสองธาตุด้วยกัน
  • ปุ๋ยผสม คือ ปุ๋ยที่มีการนำเอาแม่ปุ๋ยหลายๆ ชนิดมาผสมรวมกันเพื่อให้ปุ๋ยที่ผสมได้มีปริมาณและสัดส่วนของธาตุอาหาร N,P และ K ตามที่ต้องการ
บทความจากหนังสือกุหลาบราชินีแห่งดอกไม้
โดย อาจารย์เศรษฐมันตร์ กาญจนกุล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น